ห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นไม่ยากอย่างที่คิด

อ่าน 160,952 ครั้ง

คันจิ

คันจิในภาษาญี่ปุ่นมีต้นกำเนิดจากอักษรจีน โดยญี่ปุ่นได้รับมาเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกับมีการดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้มีความสะดวกในการเขียนและการอ่าน มีทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ตัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาโบราณที่ปัจจุบันไม่มีการใช้งานแล้ว

ในเดือนพฤศจิกายน คศ. 2010 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแก้ไขจำนวนคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (常用漢字 : jouyou kanji) จากที่เคยกำหนดไว้เดิม 1,945 ตัว เป็น 2,136 ตัว โดยในจำนวนนี้เป็นคันจิที่กำหนดให้ศึกษาในระดับประถมศึกษาจำนวน 1,006 ตัว แบ่งเป็น ป.1 (80 ตัว) ป.2 (160 ตัว) ป.3 (200 ตัว) ป.4 (200 ตัว) ป.5 (185 ตัว) และ ป.6 (181 ตัว) ตามลำดับ

คันจิเป็นอักษรที่มีทั้งความหมายและเสียงในตัวเอง คันจิ 1 ตัวจะมีวิธีอ่าน 2 แบบ คือ

1) kun-yomi

เป็นการอ่านแบบพ้องเสียงกับคำศัพท์ญี่ปุ่นที่มีอยู่เดิม
เช่น 山 จะอ่านว่า yama แปลว่า ภูเขา

2) on-yomi

เป็นการอ่านแบบจีน
เช่น 山 จะอ่านว่า san ซึ่งแปลว่า ภูเขา เช่นเดียวกัน

คันจิระดับประถมศึกษา

เว็บไซต์นี้ได้รวมคันจิระดับประถมศึกษาทั้ง 1,006 ตัว พร้อมทั้งความหมาย การอ่านออกเสียง และวิธีการเขียนคันจิแต่ละตัว

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาคันจิตั้งแต่ระดับเริ่มต้นชั้น ป.1 ได้ที่นี่ 【คันจิ ป.1】

พบ 45 ความเห็นในบทเรียนนี้

ความเห็นที่ 11
คือผมสงสัยว่าถ้าการออกเสียงของตัวคันจิ เช่น 気 อ่านว่า ケ แล้วความหมายของ ケ คือขน,เส้นผม แต่ความหมายของ 気 คือ จิต แบบนี้อ่ะครับ ตอนที่เราพูดกัน เราจะทราบได้ยังไงครับว่า คนที่พูดหมายถึงตัว 気 หรือ ケ (ไม่แน่ใจผมยกตัวอย่างถูกไหม แต่คำถามคือประมาณว่าการออกเสียงของคันจิ แล้วเสียงนั้นไปเหมือนกับคำศัพท์ที่ใช้ตัวคาตาคานะเขียนเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนพูดหมายถึงคำไหนหรอครับ ผมเดาเอาว่าถ้าพูดทั้งประโยคอาจจะทราบได้แต่ถ้าพูดเป็นคำคำเดียวอะครับ) เพราะผมเพิ่งเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองยังไม่ถึงเดือนครับ เลยไม่ค่อยรู้จะยกตัวอย่างคำอื่นๆยังไง คือจะมีคันจิตัวอื่นที่เข้าในทำนองนี้ไหมครับ ขอบคุณมากๆครับ
รบกวนด้วยครับ 19 กค 55 00:43

ความเห็นที่ 12
1.คันจิที่ออกเสียงเหมือนกันมีอยู่มาก โดยเฉพาะการออกเสียงแบบ onyomi
เช่น คันจิที่อ่านว่า shou มีไม่น้อยกว่า 60 ตัว

2.คำศัพท์ที่ออกเสียง "คล้ายกัน" มีอยู่มาก เช่น hashi แปลว่า ตะเกียบ สะพาน หรือ ขอบ ก็ได้
แต่ทั้ง 3 อย่างนี้ ออกเสียงสูงต่ำไม่เหมือนกัน จึงฟังออกว่าเป็นคนละตัว

3. คำศัพท์ที่ออกเสียง "เหมือนกันเป๊ะ" ก็มีอยู่มาก เช่น kimi แปลว่า เธอ หรือ ไข่แดง ก็ได้

สรุปคือ ไม่ว่าจะเป็นคันจิ หรือคำศัพท์ ก็มีโอกาสเจอคำที่มีเสียงตรงกันได้
ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าพูดขึ้นมาลอยๆ ก็ย่อมไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพแวดล้อม หรือประโยคก่อนหน้านั้น ก็สามารถเข้าใจได้ตามปกติ

ภาษาไทยก็มีคำที่ออกเสียงซ้ำกันอยู่มาก ซึ่งถ้าเรารู้จักครบทุกคำ ก็จะไม่สับสน
แต่ถ้าเรารู้จักเพียงบางคำ ก็ย่อมเข้าใจผิดเป็นเรื่องธรรมดาครับ
webmaster 19 กค 55 18:24

ความเห็นที่ 13
อยากเรียนถามอาจารย์ว่าในเว็บฯที่ให้ลากเส้นคันจิได้นั้นถ้าต้องการคำแปลที่เป็นคำผสมสองคำไม่ใช่คำเดียวจะทำได้หรือไม่เช่น弘通 อยากทราบว่าคำนี้แปลว่าอะไร (เข้าใจว่าเป็นภาษาเก่า)
พัต 5 เมย 56 16:36

ความเห็นที่ 14
เรียนถามอาจารย์อีกค่ะว่า
1.คำว่า日々นี้ในดิกฯ常用漢字ISBN978-974-443-378-7ของสำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมมีคำอ่านว่าฮิบิอย่างเดียวแต่ในดิกญ๊๋ปุ่น-ไทยของสำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมISBN974-9569-26-1มีคำอ่านว่าฮิบิในหน้า847และคำอ่านว่านิจินิจิในหน้า751และในgoogle translateก็ออกเสียงอ่านว่านิจินิจิอย่างเดียวแต่เคยถามคำนี้จากชาวญี่ปุ่นเขาบอกว่าคำนี้ต้องอ่านว่าฮิบิเขาไม่พูดถึงนิจินิจิเลยเคยถามเขาว่าในดิกเคยเจอดังข้างต้นอยากขอคำยืนยันจากอาจารย์ว่าสรุปแล้วมีคำว่านิจินิจิหรือไม่และในดิกพิมพ์ถูกหรือไม่
2.จากปัญหาการอ่านคันจิ เวลาอ่านธรรมะถ้าไม่รู้เสียงอ่านก็จะเปิดดิกฯไม่ได้ เวลาพระสงฆ์จากญี่ปุ่นมาเมืองไทยจะสอนธรรมะ โดยดูจากเอกสารที่ท่านเตรียมมา(ชีทธรรมะเรื่องที่จะสอนในวันนั้น)เพื่อเป็นการเรียนรู้การออกเสียงที่ถูกต้องอยากได้สำเนาที่พระสงฆ์จะสอน จะต้องพูดว่าอย่างไรว่าต้องการขอสำเนาที่ท่านจะสอนในวันนั้น(บอกท่านล่วงหน้า)เพื่อว่าเวลาที่ท่านอ่านเราจะได้เขียนฟุริงะนะลงไปและจะได้คุ้นเคยกับคำศัพท์นั้นๆด้วย
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำ
pat 5 เมย 56 16:55

ความเห็นที่ 15
ตอบคำถาม #13
ถ้าสามารถคีย์หรือก๊อปคันจิตัวนั้นได้ ก็ค้นหาความหมายจากดิกญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่น-อังกฤษ แต่ดิกญี่ปุ่นอังกฤษจะมีคำศัพท์น้อยกว่า ครับ

弘通 อ่านว่า ぐずう หรือ ぐつう
ในดิกแปลว่า 仏語。仏教が広く世に行われること。また、仏教を普及させること。
ศัพท์ในพุทธศาสนา การที่พุทธศาสนาเผยแผ่สู่โลกอย่างกว้างขวาง หรือการเผยแผ่พุทธศาสนา
webmaster 5 เมย 56 20:11

ความเห็นที่ 16
ตอบคำถาม #14
1. ในดิกญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น 日々 อ่านได้ทั้ง hibi และ nichinichi แปลความหมายเหมือนกัน
แต่ nichinichi ใช้ในกรอบที่จำกัดมาก ปกติใช้ว่า hibi จะปลอดภัยกว่าครับ

2. การจะขอเอกสารล่วงหน้า จะใช้ว่า 事前(じぜん)に資料(しりょう)をいただけませんか。 ก็ได้ครับ
webmaster 5 เมย 56 20:26

ความเห็นที่ 17
พัต 7 เมย 56 15:25

ความเห็นที่ 18
พัต 7 เมย 56 15:38

ความเห็นที่ 19
พัต 7 เมย 56 16:56

ความเห็นที่ 20
พัต 7 เมย 56 17:31

1>5

pageviews 8,319,738