สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

วิธีออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นให้ถูกต้อง [กระทู้แนะนำ]

โดย webmaster : อ่าน 54,707 ครั้ง

เรื่องที่สำคัญมากในการเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่มักจะถูกละเลย เนื่องจากไม่อยู่ในตำราเรียน ไม่อยู่ในข้อสอบวัดระดับ และอาจารย์ผู้สอนเองก็อาจไม่มีความชำนาญ คือ จะออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่นอย่างไรให้ถูกต้อง

ในภาษาไทย ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า มีเสียงสูงเสียงต่ำมากถึง 5 เสียง แต่ก็มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำกับ จึงทำให้การออกเสียงทำได้ไม่ยากนัก จะมีปัญหาก็เพียงแต่มีการแบ่งพยัญชนะออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ ทำให้อักษรที่อยู่คนละกลุ่ม แม้จะใช้วรรณยุกต์เดียวกัน ก็อาจออกเสียงต่างกัน เช่น "ข้า" และ "ค้า" หรือแม้จะใช้วรรณยุกต์ต่างกัน ก็อาจออกเสียงเหมือนกันได้ เช่น "ข้า" และ "ค่า" เป็นต้น จึงจัดเป็นภาษาที่ออกเสียงได้ยากภาษาหนึ่ง

สำหรับภาษาญี่ปุ่น แม้จะมีเสียงสูงต่ำเพียงแค่ 2 เสียง คือ เสียงสูง และเสียงต่ำ แต่กลับเป็นภาษาที่ออกเสียงได้ยากยิ่งกว่า จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า แม้จะมีชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่เกือบ 4 ล้านคนทั่วโลก แต่คุณอาจจะไม่เคยพบกับชาวต่างชาติที่สามารถออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เลย

ความยากในการออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่น มีเหตุผลหลายประการ เช่น

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ชาวต่างชาติที่ถึงแม้จะศึกษาและใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลานาน หรือแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่นที่เคยชินกับการใช้ภาษาท้องถิ่นมาตั้งแต่เด็ก จึงมักจะมีปัญหาการออกเสียงในสำเนียงภาษากลางอย่างถูกต้อง

บทเรียนนี้ จะอธิบายวิธีการออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่น (ภาษากลาง) โดยละเอียด ตลอดจนวิธีการใช้พจนานุกรมออนไลน์ เพื่อค้นหาเครื่องหมายแสดงตำแหน่งการออกเสียงสูงต่ำ เพื่อให้ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาและออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องต่อไป

การฝึกออกเสียง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น เนื้อหาในบทเรียนนี้จึงต้องบรรยายอย่างละเอียดตามไปด้วย จึงเป็นการยากที่จะอ่านรวดเดียวจบ และยากที่จะทำความเข้าใจโดยการอ่านผ่านๆ เพียงครั้งเดียว

หากเริ่มรู้สึกสับสนเมื่อใด ขอให้หยุดพัก แล้วย้อนกลับไปอ่านทวนซ้ำใหม่อย่างช้าๆ เพราะนั่นคือ "เส้นทางลัด" ในการเรียนภาษาอย่างถูกต้อง

ข้อกำหนดในบทความนี้

เนื่องจากการอธิบายวิธีออกเสียง โดยการใช้ตัวหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว มีข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่าน สามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้องตรงกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดกติกาในการเรียน ดังนี้

  1. เครื่องหมายขีดเส้นใต้ เช่น
    • แทนการออกเสียงต่ำ โดยให้ออกเสียงเป็น "เสียงเอก" เสมอ
    • ในบทเรียนนี้ จะใส่ "ไม้เอก" ในคำอ่านภาษาไทยทุกครั้ง แม้ว่าคำนั้นจะออกเป็นเสียงเอกอยู่แล้วก็ตาม

  2. เครื่องหมายขีดเส้นบน เช่น
    • แทนการออกเสียงสูง โดยให้ออกเสียงเป็น "เสียงตรี"
    • ในบทเรียนนี้ จะใส่ "ไม้ตรี" ในคำอ่านภาษาไทยทุกครั้ง แม้ว่าคำนั้นจะออกเป็นเสียงตรีอยู่แล้วก็ตาม

เมื่อเข้าใจข้อกำหนดข้างต้นแล้ว ให้ทดลองออกเสียงตามตัวอย่าง ดังนี้

เมื่อคุ้นเคยกับสัญญลักษณ์แล้ว ลองฝึกออกเสียงคำต่อไปนี้

 a  me 
 a  me 
 ko  do mo 
 ka  rasu 
 ko  ne  ko 
 sa  kana 

คำแนะนำ : หากยังไม่เข้าใจวิธีอ่านสัญญลักษณ์ หรือยังออกเสียงผิด ขอแนะนำให้หยุดตรงนี้ก่อน แล้วย้อนกลับไปอ่านข้อกำหนดซ้ำใหม่ และฝึกจนสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง มิฉะนั้น หากยังอ่านบทเรียนต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้สับสนมากยิ่งขึ้น

ความแตกต่างระหว่าง "พยางค์" กับ "จังหวะ"

"พยางค์" คือ ส่วนของคำพูดที่เปล่งเสียงออกมาแต่ละครั้ง ซึ่งจะเป็นเสียงสั้น เสียงยาว เสียงเปิด หรือเสียงปิด ก็ได้ เช่น คำว่า "โต๊ะ" "ปลา" "เพลีย" "เกลี้ยง" ถือเป็นคำ 1 พยางค์ทั้งสิ้น

แต่เนื่องจาก "พยางค์" แต่ละตัว มีความยาวในการเปล่งเสียงไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถนำมาอ้างอิงตำแหน่งในการออกเสียงสูงเสียงต่ำได้

ดังนั้น ภาษาญี่ปุ่นจึงแบ่งพยางค์ออกเป็นส่วนที่เล็กลงไปอีก เรียกว่า 拍 (haku) หรือ モーラ (moura) ซึ่งในบทเรียนนี้จะเรียกว่า "จังหวะ"

"จังหวะ" ในบทเรียนนี้จึงหมายถึง การเปล่งเสียงแต่ละครั้ง ซึ่งมีความยาวที่เท่ากัน โดยมีข้อกำหนด ดังนี้

การจะออกเสียงภาษาญี่ปุ่นให้ถูกต้อง จึงต้องออกเสียงให้มีความยาวครบตามจังหวะของคำนั้นๆด้วย

วิธีการฝึก ควรเริ่มจากการเคาะจังหวะพร้อมกับการออกเสียง เช่น เมื่อจะออกเสียงคำว่า かっぱ (ka-p-pa) ซึ่งมี 3 จังหวะ ก็ให้เคาะจังหวะ 3 ครั้ง พร้อมกับออกเสียงให้ครบ และตรงตามจังหวะนั้นๆ

หลักเกณฑ์การออกเสียงในภาษาญี่ปุ่น : สำคัญมาก!

การออกเสียงสูงเสียงต่ำในภาษาญี่ปุ่น มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. คำที่มีความยาวตั้งแต่ 2 จังหวะขึ้นไป จะเปลี่ยนเสียงในจังหวะที่ 2 เสมอ
    คือ หากจังหวะที่ 1 เป็นเสียงต่ำ จังหวะที่ 2 จะเปลี่ยนเป็นเสียงสูง
    หรือหากจังหวะที่ 1 เป็นเสียงสูง จังหวะที่ 2 จะเปลี่ยนเป็นเสียงต่ำ
  2. หากคำนั้น มีการเปลี่ยนจากเสียงสูงเป็นเสียงต่ำแล้ว จะไม่กลับขึ้นไปเป็นเสียงสูงอีก

จากหลักเกณฑ์ข้างต้น ภาษาญี่ปุ่นจึงแบ่งวิธีออกเสียงได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

  1. เสียงเรียบ (平板式 : Heiban shiki)
    มีรูปแบบ คือ _| ̄ ̄ ̄
    วิธีการออกเสียงคือ คำในจังหวะที่ 1 จะออกเสียงต่ำ จากนั้นตั้งแต่จังหวะที่ 2 เป็นต้นไป จะออกเสียงสูงไปจนจบคำ และรวมถึงคำช่วยที่ตามหลังคำนั้นด้วย
    คำที่ออก "เสียงเรียบ" จะแสดงด้วยเครื่องหมาย [0] ตัวอย่างเช่น
    • [0] แปลว่า ใจ
      คำแรกออกเสียงต่ำ คือ  ki 
      แต่คำช่วยที่ตามมา จะเป็นเสียงสูง เช่น
       ki  ga  หรือ  ki  o 
    • きみ [0] แปลว่า เธอ
      คำแรกออกเสียงต่ำ คำที่ 2 เป็นต้นไปจะออกเสียงสูง คือ  kimi 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงสูงด้วย เช่น
       kimi wa  หรือ  kimi mo 
    • わたし [0] แปลว่า ฉัน
      คำแรกออกเสียงต่ำ คำที่ 2 เป็นต้นไปจะออกเสียงสูง คือ watashi 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงสูงด้วย เช่น
       watashi wa  หรือ  watashi mo 
    • ともだち [0] แปลว่า เพื่อน
      คำแรกออกเสียงต่ำ คำที่ 2 เป็นต้นไปจะออกเสียงสูง คือ  tomodachi 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงสูงด้วย เช่น
       tomodachi wa  หรือ  tomodachi ga 
  2. เสียงขึ้นลง (起伏式 : Kifuku shiki)
    มีรูปแบบ คือ    
    วิธีออกเสียงคือ จะมีการออกเสียงสูง แล้วเปลี่ยนมาเป็นเสียงต่ำในจังหวะที่ [..ตัวเลข..] และจะไม่กลับไปออกเสียงสูงในคำนั้นอีกเลย รวมถึงคำช่วยที่ตามมา ก็จะออกเสียงต่ำด้วยเช่นกัน
    "เสียงขึ้นลง" จะแทนด้วยเครื่องหมาย [1] หรือ [2] หรือ [3] หรือ [4] .... เพื่อแสดงจังหวะสุดท้ายที่สิ้นสุดการออกเสียงสูง ตัวอย่างเช่น
    • [1] แปลว่า ต้นไม้
      สิ้นสุดการออกเสียงสูงในจังหวะที่ 1 คือ  ki 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำด้วย เช่น
       ki  ga  หรือ  ki  o 
    • ぼく [1] แปลว่า ผม
      สิ้นสุดการออกเสียงสูงในจังหวะที่ 1 จากนั้นจะเป็นเสียงต่ำ คือ  boku 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำด้วย เช่น
       boku wa  หรือ  boku to 
    • いし [2] แปลว่า ก้อนหิน
      จังหวะที่ 1 จะเป็นเสียงต่ำ เนื่องจากจังหวะที่ 2 จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียงสูง ตามหลักเกณฑ์การออกเสียงข้อ 1
      และสิ้นสุดการออกเสียงสูงในจังหวะที่ 2 คือ  ishi 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำด้วย เช่น
       ishi  o  หรือ  ishi  ga 
    • あなた [2] แปลว่า คุณ
      จังหวะที่ 1 จะเป็นเสียงต่ำ เนื่องจากจังหวะที่ 2 จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียงสูง ตามหลักเกณฑ์การออกเสียงข้อ 1
      และสิ้นสุดการออกเสียงสูงในจังหวะที่ 2 จากนั้นจะเป็นเสียงต่ำ คือ  anata 
      คำช่วยที่ตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำด้วย เช่น
       anata wa   หรือ  anata to 
    • あした [3] แปลว่า พรุ่งนี้
      จังหวะที่ 1 จะเป็นเสียงต่ำ เนื่องจากจังหวะที่ 2 จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียงสูง ตามหลักเกณฑ์การออกเสียงข้อ 1
      และสิ้นสุดการออกเสียงสูงถึงจังหวะที่ 3 คือ  ashita 
      จากนั้นหากมีคำช่วยตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำ เช่น
       ashita  wa   หรือ  ashita  mo  
    • にほんじん [4] แปลว่า คนญี่ปุ่น
      จังหวะที่ 1 จะเป็นเสียงต่ำ เนื่องจากจังหวะที่ 2 จะต้องเปลี่ยนเป็นเสียงสูง ตามหลักเกณฑ์การออกเสียงข้อ 1
      และสิ้นสุดการออกเสียงสูงถึงจังหวะที่ 4 คือ  nihonjin  
      จากนั้นหากมีคำช่วยตามมา ก็จะเป็นเสียงต่ำ เช่น
       nihonjin wa   หรือ  nihonjin ga  

หมายเหตุ

1. เสียงสูงในแบบที่ 1 (เสียงเรียบ : heiban shiki) จะออกเสียงต่ำกว่าเสียงสูงในแบบที่ 2 (เสียงขึ้นลง : kifuku shiki) เล็กน้อย

แต่เพื่อความสะดวก ให้ถือเป็นเสียงสูงเหมือนกัน ก็ไม่ผิดเพี้ยนมากนัก

2. คำศัพท์บางคำ อาจจะออกเสียงสูงต่ำได้มากกว่า 1 วิธี เช่น kuma (หมี) สามารถออกเสียงได้ 2 แบบ คือ

kuma [1] kuma 

kuma [2] kuma 

แต่การออกเสียงแบบที่ 2 จะใช้บ่อยกว่า ดังนั้น ในพจนานุกรมจะแสดงเครื่องหมายเป็น くま[2][1]

เมื่อคุ้นเคยกับเครื่องหมาย [0], [1], [2], ... แล้ว ลองมาฝึกออกเสียงกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับคำช่วย ดังนี้

hana[0]  ga
hana[2]  ga
kaeru[0]  ga
tanuki[1]  ga
jimusho[2]  ga
kokoro[3][2]  ga

เมื่อฝึกอ่านเสร็จแล้ว หากยังไม่เข้าใจ หรือยังอ่านออกเสียงผิดอยู่ ก็ขอให้หยุดตรงนี้ แล้วย้อนกลับไปอ่านหลักเกณฑ์การออกเสียงอีกหลายๆรอบ จนเข้าใจ

การเรียนภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกออกเสียง ไม่มีเส้นทางลัด ไม่มีประโยชน์ที่จะอ่านต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนมานะครับ

พักยก

เมื่อมาถึงตรงนี้ คงพอจะสังเกตพบเทคนิคในการออกเสียงสูงต่ำของ คำช่วย แล้ว นั่นคือ

  • คำช่วย ที่ตามหลังคำเสียงเรียบ [0] จะออกเป็นเสียงสูง
  • คำช่วย ที่ตามหลังคำเสียงสูงต่ำ [1],[2]... จะออกเป็นเสียงต่ำ

ดังนั้น คำว่า は ในประโยค わたし[0] は ... และ あなた[2] は ... จึงออกเสียงต่างกัน คือ

  • わたし は ...  → watashi wa ...
  • あなた は ...  → anata wa ...

แต่ในทางกลับกัน หากไม่เข้าใจหลักเกณฑ์นี้แล้ว การกล่าวประโยคสั้นๆง่ายๆ เพียงแค่ประโยคเดียว ก็อาจบอกได้ทันทีว่า คนผู้นั้นออกเสียงเป็นภาษากลางได้ถูกต้องหรือไม่

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกเสียง は ในประโยค わたし は ...、 あなた は ...、 ぼく は ... ผิด ขอให้ลองนึกย้อนกลับไปดูว่า เริ่มผิดตั้งแต่เมื่อไร

คำตอบของทุกคนคงจะเหมือนๆกันคือ ผิดตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น และอาจจะไม่เคยทราบเลยว่า ตนเองออกเสียงผิดมาตลอด

คราวนี้มาลองฝึกออกเสียงให้ครบประโยค

2 ประโยคต่อไปนี้ เขียนโรมาจิเหมือนกัน แต่อ่านออกเสียงต่างกัน

  1. [0] が 小さい[3] です
    ki ga chiisai desu
    ขี้ขลาด (หรือคิดเล็กคิดน้อย) ครับ/ค่ะ
    ki  ga chiisai desu
  2. [1] が 小さい[3] です
    ki ga chiisai desu
    ต้นไม้เล็กครับ/ค่ะ
    ki  ga chiisai desu

3 ประโยคต่อไปนี้ ก็เขียนโรมาจิเหมือนกัน แต่ออกเสียงสูงต่ำไม่เหมือนกันเลย
ซึ่งนี่คือความยากในการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นให้ถูกต้อง

  1. [0] が 長い[2] です
    hashi ga nagai desu
    ขอบ(หรือปลาย) ยาวครับ/ค่ะ
    hashi ga nagai desu
  2. [1] が 長い[2] です
    hashi ga nagai desu
    ตะเกียบยาวครับ/ค่ะ
    hashi ga nagai desu
  3. [2] が 長い[2] です
    hashi ga nagai desu
    สะพานยาวครับ/ค่ะ
    hashi  ga nagai desu

แบบฝึกหัดสุดท้าย

เมื่อมาถึงตรงนี้ คงเข้าใจวิธีการออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องแล้ว

และนี่คือแบบฝึกหัดสุดท้าย โดยขอให้ลองฝึกอ่านออกเสียงก่อน แล้วจึงค่อยฟังคำตอบ

หากอ่านทั้ง 3 ประโยคนี้ได้อย่างถูกต้อง ก็หมายความว่า คุณเข้าใจวิธีการออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นอย่างถูกต้องแล้ว เหลือเพียงแค่จดจำคำศัพท์ต่างๆ และฝึกฝนให้เคยชินเท่านั้น

การค้นหาเครื่องหมายแสดงเสียงสูงต่ำ จาก Dic online

ขณะที่เขียนวิธีออกเสียงสูงต่ำในภาษาญี่ปุ่นให้ถูกต้องนี้ มี Dictionary ภาษาญี่ปุ่น online ที่สามารถค้นหาคำศัพท์ญี่ปุ่น ที่มีเครื่องหมายแสดงการออกเสียงไว้ด้วย คือ Dic 大辞林 (Daijirin) ของบริษัท 三省堂 (Sanseidou) www.excite.co.jp/dictionary/japanese/ ซึ่งมีคำศัพท์มากกว่า 2.3 แสนคำ เป็น Dic ที่มีส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่น เป็นอันดับที่ 2 รองจาก Dic 広辞苑 (Koujien) แต่ปัจจุบัน Dic นี้ยกเลิกการให้บริการบนเว็บไซต์แล้ว เหลือเพียงบน application เท่านั้น

Daijirin

ในกรณีที่ค้นหา Dic ญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น อาจพบเครื่องหมาย ▼ ซึ่งหมายความว่า เป็นตัวคันจิที่ไม่ถูกบัญญัติให้เป็นคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำ (Jouyou kanji) และเครื่องหมาย ▽ ซึ่งหมายความว่า เป็นเสียงอ่านที่ไม่ถูกบัญญัติไว้ในคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำ

เครื่องหมายแสดงเสียงสูงต่ำใน Dic online นี้ เป็นสำเนียงในภาษากลาง (共通語 : kyoutsuugo) เท่านั้น ไม่รวมถึงภาษาท้องถิ่น ภาษาเก่า ชื่อคน ชื่อสถานที่ หรือชื่ออื่นๆ ที่มีการออกเสียงเป็นการเฉพาะตัว และไม่รวมถึงเสียงที่เกิดจากการผสมคำศัพท์ 2 คำเข้าด้วยกัน อันอาจจะทำให้การออกเสียงสูงต่ำคลาดเคลื่อนไปด้วย

ก่อนจะจบ

คนไทยส่วนใหญ่ เมื่อออกเสียงคำศัพท์ต่างประเทศ มักจะใส่เสียงวรรณยุกต์เข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่น คำที่จบท้ายด้วยเสียงสระ (คำเสียงเปิด) มักจะใส่เสียงโท เข้าไปด้วย โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า เกี๊ยวซ่า โอซาก้า คูโบต้า ยามาฮ่า โซนี่ โซโก้ เป็นต้น

แต่การออกเสียงตามวิธีที่คนไทยเคยชินนี้ ไม่ตรงกับสำเนียงในภาษาญี่ปุ่นเลย แม้แต่คำเดียว

ดังนั้น แม้ว่าจะเคยศึกษาภาษาญี่ปุ่นมานานเพียงใดก็ตาม แต่หากไม่ระมัดระวัง ก็มีโอกาสที่จะออกเสียงผิดพลาดได้ง่าย

การจะออกเสียงสูงต่ำได้อย่างถูกต้องในทุกสถานการณ์ นอกจากจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน จดจำแล้ว ยังจะต้องมีสมาธิ ควบคุมสติ ไม่ให้ออกเสียงไปด้วยความเผลอเรอ ด้วยสำเนียงผิดๆ ที่อาจจะติดปากจนเคยชินอีกด้วย

การกำหนดให้ออกเสียงต่ำเป็นเสียงเอก และออกเสียงสูงเป็นเสียงตรี ตามหลักเกณฑ์ในบทเรียนนี้ เป็นหลักเกณฑ์ที่กระชับ จดจำได้ง่าย

ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะมีบางกรณีที่ออกเสียงไม่ตรงไปบ้าง แต่ก็จะผิดเพี้ยนไปไม่มากนัก จึงสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐาน สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาภาษาญี่ปุ่น ให้ออกเสียงได้อย่างถูกต้องต่อไปได้เป็นอย่างดี

Webmaster
11 กุมภาพันธ์ 2555
ปรับปรุง 27 กุมภาพันธ์ 2566

おまけ : ของแถม

ท้ายที่สุดท้ายนี้ ขอนำตัวอย่างคำศัพท์ที่สะกดเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน มาให้ทดลองฝึกอ่านและท่องจำ ดังนี้

1. ki [0] 気 (ใจ)
ki [1] 木 (ต้นไม้)
2. hi [0] 日 (วัน)
hi [1] 火 (ไฟ)
3. ha [0] 葉 (ใบไม้)
ha [1] 歯 (ฟัน)
刃 (ใบมีด)
4. ame [0] 飴 (ลูกอม)
ame [1] 雨 (ฝน)
5. kami [1] 神 (พระเจ้า)
kami [2] 紙 (กระดาษ)
髪 (ผม)
6. ishi [1] 医師 (แพทย์)
意思 (ความตั้งใจ)
ishi[2] 石 (ก้อนหิน)
7. hashi [0] 端 (ขอบ, ปลาย)
hashi [1] 箸 (ตะเกียบ)
hashi [2] 橋 (สะพาน)
8. sake [0] 酒 (เหล้าสาเก)
sake [1] さけ (ปลาแซลมอน)
9. kaki [0] 柿 (ลูกพลับ)
kaki [1] 牡蠣 (หอยนางรม)
kaki [2] 垣 (รั้ว, แนวพุ่มไม้)
10. kaeru [0] カエル (กบ)
変える (เปลี่ยน)
kaeru [1] 帰る (กลับ)
11. chiri [0][2] ちり (ฝุ่น)
chiri [1] 地理 (ภูมิศาสตร์)
12. itai [0] 遺体 (ศพ),
異体 (สิ่งแปลกปลอม)
itai [2] 痛い (เจ็บ)
13. momo [0] 桃 (ลูกพีช)
momo [1] もも (ต้นขา)
14. mushi [0] 虫 (แมลง)
mushi [1] 無視 (ไม่สนใจ)
mushi [2] 蒸し (การนึ่ง, ของนึ่ง)
15. ichi [1] 位置 (ตำแหน่ง)
ichi [2] 一 (หนึ่ง)

pageviews 1,986,371