สาระน่ารู้ เรียนรู้เรื่องญี่ปุ่นกับ J-Campus

ธงปลาคาร์ฟ (Koi Nobori) และประเพณีในวันของเด็กผู้ชาย

โดย Webmaster : อ่าน 44,995 ครั้ง

ในบรรดาวันสำคัญต่างๆของประเทศญี่ปุ่น มีวันที่สำคัญเป็นพิเศษซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดมาจากประเทศจีน รวม 5 วัน เรียกว่า go sekku (五節句)

sekku (節句) เดิมมีความหมายถึง ของที่เป็นเครื่องสักการะในวันที่มีความสำคัญเป็นพิเศษกว่าวันสำคัญอื่นๆ ในรอบปี แต่ต่อมามีความหมายเปลี่ยนไป กลายเป็นหมายความถึงวันสำคัญพิเศษนั้นโดยตรง

วันที่มีความสำคัญเป็นพิเศษทั้ง 5 วัน ประกอบด้วย

วัน Tango กับการสะเดาะเคราะห์และปัดเป่าเภทภัย

เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนที่มีอากาศร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้คนในสมัยโบราณจำนวนมาก ต้องเสียชีวิตด้วยโรคระบาด และอาหารเป็นพิษ เดือนพฤษภาคมจึงถูกเรียกว่า 悪月 (aku getsu) หรือเดือนชั่วร้าย และวันที่ 5 ก็เรียกว่า 悪日 (aku nichi) หรือวันชั่วร้าย

ในสมัยนารา (คศ.710-784) เมื่อถึงวัน Tango (5 พฤษภาคม) จะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อขจัดปัดเป่าเภทภัยชั่วร้ายเหล่านี้ โดยการปักใบของต้นไอริซ (菖蒲 : shoubu) และต้น magwort (蓬 : yomogi) ไว้ที่ประตูบ้าน หรือดื่มสุราที่แช่ใบไอริซ เป็นต้น

ในสมัยเฮอัน (คศ.794-1185) จะมีพิธีปัดเป่ารังควาน โดยเชื้อพระวงศ์จะประกอบพิธีกรรม และปักใบของต้นไอริซ และต้น mugwort ไว้ที่ชายคาในพระราชฐาน ส่วนประชาชนทั่วไป ก็จะนำใบไอริซมาขัดเป็นรัดเกล้าเพื่อประดับเป็นสิริมงคล หรือนำใบไอริซมาแขวนไว้ที่เสาบ้าน

ในสมัยคามาคุระ (คศ. 1185-1333) คำว่าต้นไอริซ ซึ่งอ่านเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า shoubu เป็นคำที่พ้องเสียงกับคำว่า 尚武 (shoubu) ซึ่งแปลว่า "การให้ความสำคัญหรือเชี่ยวชาญกับศิลปการต่อสู้" และพ้องเสียงกับคำว่า 勝負 (shoubu) ซึ่งแปลว่า "การต่อสู้" ส่วนใบไอริซก็มีรูปทรงคล้ายดาบ

ดังนั้น วัน Tango จึงกลายเป็น "วันสำคัญเป็นพิเศษของเด็กผู้ชาย" (男子の節句 : danshi no sekku) และกลายเป็นธรรมเนียมที่นักรบในสมัยนั้น จะให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมในวันนี้เป็นพิเศษ

ในสมัยเอโดะ (คศ.1603-1868) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปกครองประเทศโดยรัฐบาลทหาร วัน Tango ได้กลายมาเป็นวันสำคัญของประเทศ

ขุนนางระดับไดเมียว และฮาตาโมโตะ จะต้องมุ่งหน้าสู่วังเอโดะ เพื่อถวายสัตย์ต่อโชกุน

และหากในวัง มีบุตรชายของโชกุนถือกำเนิดขึ้น ก็จะมีการประดับริ้วธง (幟 : Nobori) และสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างเป็นอาวุธจำลอง เช่น หอก ดาบยาว หรือหมวกเกราะ ทั่วทั้งวัง พร้อมกับจัดพิธีเลี้ยงฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ส่วนครอบครัวในตระกูลนักรบ เมื่อมีบุตรชายถือกำเนิด จะมีการประดับชุดเกราะไว้ที่หน้าบ้าน พร้อมกับประดับธงประจำตระกูลด้วยเช่นเดียวกัน

และเนื่องจากการที่ประเทศญี่ปุ่นมีการปกครองโดยรัฐบาลทหาร เป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี ในช่วงสมัยเอโดะนี้ เสื้อเกราะและหมวกเกราะ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กผู้ชาย

การประดับชุดเกราะในพิธีฉลองการถือกำเนิดของเด็กผู้ชาย จึงไม่เพียงแต่ความมุ่งหวังที่จะบุตรชาย เติบโตอย่างเข้มแข็งกล้าหาญแล้ว แต่ยังถือเป็นสิ่งมงคลที่จะช่วยขจัดปัดเป่าเภทภัยให้กับเด็กผู้ชายอีกด้วย

การประดับธงปลาคาร์ฟ และตุ๊กตานักรบ

ต่อมา ในกลางยุคสมัยเอโดะ ชาวบ้านทั่วไปได้รับอนุญาตให้ประดับธงได้เช่นเดียวกัน

ครอบครัวพ่อค้า ซึ่งไม่มีธงตระกูล จึงได้สร้างธงปลาคาร์ฟ (Koi Nobori) ขึ้น ตามความเชื่อในสมัยโบราณที่สืบทอดมาจากประเทศจีน ตามสำนวนเรื่องการขึ้นสู่ประตูมังกร (登竜門 : Touryuumon) หรือ การว่ายทวนน้ำตกของปลาคาร์ฟ (鯉の滝登り : koi no taki nobori)

ในประเทศจีน มีความเชื่อสืบทอดแต่โบราณว่า ที่ต้นน้ำของแม่น้ำฮวงโห เป็นช่วงที่กระแสน้ำมีความเชี่ยวกรากเป็นอย่างยิ่ง ปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไป จะถูกกระแสน้ำพัดตกลงมาตายหมดทุกตัว

จะมีก็แต่เพียงปลาคาร์ฟเท่านั้น ที่สามารถว่ายทวนน้ำตกขึ้นไปได้

ปลาคาร์ฟที่ว่ายทวนขึ้นกระแสน้ำขึ้นไปถึงประตูมังกร (龍門 : ryuumon) จะกลายร่างเป็นมังกร และบินไปสู่สรวงสวรรค์

ชาวจีนจึงถือว่า ปลาคาร์ฟเป็นปลาที่มีความทรหดอดทน เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในชีวิต ที่ควรค่าต่อการเคารพยกย่อง

ชาวญี่ปุ่นจึงประดับธงปลาคาร์ฟ เพื่อแจ้งต่อเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ว่า มีบุตรชายถือกำเนิดในบ้านของตนแล้ว ขอให้เทพเจ้าปกป้องคุ้มครอง พร้อมกับเป็นการอธิษฐานให้บุตรชายของตน เติบโตแข็งแรง และประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เช่นเดียวกับปลาคาร์ฟที่ว่ายทวนน้ำตกได้สำเร็จ

และนอกจากการประดับธงปลาคาร์ฟแล้ว ชาวบ้านก็ยังสร้างตุ๊กตานักรบ และประดับไว้ในบ้าน เพื่อเลียนแบบครอบครัวในตระกูลนักรบอีกด้วย

ธงปลาคาร์ฟในสมัยเอโดะ ทำจากกระดาษญี่ปุ่น และวาดเป็นรูปปลาคาร์ฟ

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ไทโช (คศ.1912-1926) ได้เปลี่ยนมาเป็นผ้าฝ้าย เพื่อให้แข็งแรงทนทานขึ้น

และประมาณกลางราชวงศ์โชวะ คือประมาณต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ธงปลาคาร์ฟก็เปลี่ยนมาใช้เส้นไยสังเคราะห์ เพื่อให้มีสีสรรสวยงามและคงทน แม้จะตากแดดตากฝนเป็นเวลานานก็ตาม

ปัจจุบันการชักธงปลาคาร์ฟไว้นอกบ้าน และประดับตุ๊กตานักรบ หรือชุดเกราะ ไว้ภายในบ้าน เป็นประเพณีที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่จะขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่นนั้นๆด้วย เช่น บางแห่งอาจจะเน้นสิ่งประดับนอกบ้านเป็นหลัก หรือบางแห่งอาจจะเน้นสิ่งประดับในบ้านเป็นหลัก เป็นต้น

ธงปลาคาร์ฟดั้งเดิม จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่บนสุด จะเป็นธงพู่ปลิว มี 5 สี ซึ่งแสดงถึงธาตุทั้ง 5 ชนิด และถัดจากนั้นจะเป็นธงปลาคาร์ฟสีสรรต่างๆตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป

ปลาคาร์ฟตัวใหญ่สีดำจะหมายถึงพ่อ ส่วนสีแดงจะหมายถึงลูกและคนในครอบครัว

ปัจจุบัน ธงปลาคาร์ฟนิยมประดับในช่วงปลายเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีกระแสลมเหมาะสม แลดูสวยงาม

ส่วนช่วงที่เก็บธง จะเลือกวันที่อากาศแห้งและแจ่มใส เพื่อให้สามารถเก็บธงปลาคาร์ฟได้ในสภาพที่แห้งสนิทอย่างเรียบร้อย

การรับประทานขนมบะจ่าง ขนมโมจิห่อใบโอ๊ค และการแช่น้ำร้อน

นอกจากการประดับใบไอริซ ใบ mugwort ตุ๊กตานักรบ และธงปลาคาร์ฟ ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว

ในวัน Tango จะมีการรับประทาน chimaki (คล้ายกับขนมบะจ่าง) ตามประเพณีจีน และทานขนมโมจิห่อใบโอ๊ค (柏餅 : kashiwa mochi) การสวมรัดเกล้าที่ร้อยขึ้นจากใบ mugwort การดื่มเหล้าที่แช่ใบไอริซ และอาบน้ำร้อนที่แช่ใบไอริซอีกด้วย

ต้นโอ๊ค ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ใบแก่ของต้นโอ๊ค จะไม่แห้งและร่วงจากต้น จนกว่าใบอ่อนจะผลิออกมา จึงถือเป็นสิ่งมงคล เปรียบกับการมีลูกหลานสืบสานวงศ์ตระกูลต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน และถือเป็นประเพณีที่จะรับประทานขนมโมจิห่อใบต้นโอ๊คในวันนี้

ส่วนใบไอริช จะนำมาแช่ในอ่างอาบน้ำ เพื่อขจัดปัดเป่าเภทภัย ทำให้เลือดลมหมุนเวียน และคลายความเครียดได้อีกด้วย

การกำหนดวันเด็กของประเทศญี่ปุ่น

ในปี พศ. 2491 ได้มีการเสนอให้มีการกำหนด "วันเด็ก" เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์

รัฐสภาจึงได้กำหนดให้วัน tango หรือวันที่ 5 พฤษภาคม ให้เป็น "วันเด็ก" ของประเทศญี่ปุ่น ตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

แต่เนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคม เดิมเป็น "วันของเด็กผู้ชาย" จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ เนื่องจากวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งเป็น "วันของเด็กผู้หญิง" แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์

นอกจากนี้ วันที่ 5 พฤษภาคม ยังเป็นวันที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Golden Week ซึ่งเป็นวันหยุดยาวของญี่ปุ่น คือ

ดังนั้น ครอบครัวที่ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก จึงจะจัดงานเลี้ยงฉลองให้กับบุตรชายอย่างคึกคัก โดยจะมีญาติจากทุกฝ่ายมาร่วมงานด้วย ทำให้เป็นการเลี้ยงฉลองที่ใหญ่และอุ่นหนาฝาคั่ง กว่างานในวันของเด็กผู้หญิงเป็นอย่างมาก

วันเด็กของไทย

สำหรับประเทศไทย ได้กำหนด "วันเด็กแห่งชาติ" เป็นครั้งแรก ในปี พศ.2498 โดยกำหนดให้เป็นวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่ปี พศ.2508 มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันวันเด็กในประเทศต่างๆทั่วโลก ส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะกำหนดเป็นวันที่ชัดเจน

แต่ก็มีบ้าง ที่กำหนดในลักษณะเดียวกับประเทศไทย เช่น วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม (สวีเดน) หรือวันอาทิตย์แรกของเดือนกรกฎาคม (ออสเตรเลีย) เป็นต้น

ส่วนการให้คำขวัญในวันเด็กของทุกๆปี เช่นเดียวกับประเทศไทย อาจจะไม่ค่อยมีประเทศที่ปฏิบัติเช่นนี้มากนัก

Webmaster
22 เมษายน 2555

pageviews 1,968,792