ไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตนเอง

อ่าน 328,390 ครั้ง

หน่วยของภาษา

1. ประโยค (文 : bun)

คือ ภาษาที่สื่อสารความคิดหรือเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง โดยจะจบประโยคด้วยเครื่องหมาย 。 (句点 kuten)

2. กลุ่มคำ หรือวลี (文節 : bunsetsu)

คือ สิ่งที่เกิดจากการตัดแบ่งประโยคออกเป็นกลุ่มคำที่เล็กที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียความหมาย เช่น watashi wa taijin desu ประกอบด้วยกลุ่มคำ 2 กลุ่ม คือ [watashi wa] และ [taijin desu]

3. คำศัพท์ (単語 : tango)

คือ หน่วยที่เล็กที่สุดจากการตัดแบ่งกลุ่มคำออกเป็นคำๆ เช่น [watashi], [wa], [taijin] และ [desu]

4. บทความ (文章 : bunshou)

คือ การนำประโยคหลายประโยคมาเรียงต่อกัน เพื่อสื่อสารให้ได้เนื่้อหาใจความสมบูรณ์

5. ย่อหน้า (段落 : danraku)

คือการตัดแบ่งบทความออกเป็นช่วงๆ ตามเนื้อหาใจความ โดยแต่ละย่อหน้าจะเริ่มด้วยการเว้นวรรค 1 ตัวอักษร

หน้าที่ของกลุ่มคำ

แบ่งตามโครงสร้างในประโยคได้เป็น 5 ประเภท คือ

1. ประธาน (主語 : shugo)

คือส่วนที่บอกว่า "ใคร" "อะไร" เป็นต้น

2. ภาคแสดง (述語 : jutsugo)

คือส่วนที่บอกว่า "เป็นอะไร" "แบบไหน" "ทำอะไร" เป็นต้น

3. คำขยาย (修飾語 : shuushokugo)

คือส่วนที่ทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำอื่นในประโยคให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น

4. คำเชื่อม (接続語 : setsuzokugo)

คือกลุ่มคำเพื่อเชื่อมประโยคหรือกลุ่มคำด้วยกันเอง

5. คำอิสระ (独立語 : dokuritsugo)

คือกลุ่มคำที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคำอื่นในประโยค เช่น คำอุทาน คำเรียกขาน คำตอบรับ เป็นต้น

หรือแบ่งตามความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคำด้วยกันเองได้เป็น 6 ประเภท คือ

1. กลุ่มคำทำหน้าที่เป็น ประธาน กับ ภาคแสดง

เพื่อบอกว่า "ใคร" "ทำอะไร" หรือ "อะไร" "เป็นแบบไหน" เช่น
私は学校に通います
Watashi wa gakkou ni kayoimasu
ฉัน ไป โรงเรียน

2. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็น ส่วนขยาย กับ ส่วนที่ถูกขยาย

โดยกลุ่มคำที่อยู่ข้างหน้าจะทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำที่ตามหลังมา เช่น
私は学校に楽しく 通います
Watashi wa gakkou ni tanoshiku kayoimasu
ฉัน ไป โรงเรียน อย่างสนุกสนาน

3. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เชื่อมกลุ่มคำด้วยกันเอง เช่น

私は勉強したいので学校に通います
Watashi wa benkyou shitai node gakkou ni kayoimasu
ฉัน ไป โรงเรียน เพราะอยากเรียนหนังสือ

4. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นกลุ่มคำอิสระ

คือจะวางสลับที่กันได้โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนแปลงไป เช่น
私は会話をしたり 勉強をしたいので学校に通います。
Watashi wa kaiwa o shitari benkyou o shitai node gakkou ni kayoimasu
ฉันไปโรงเรียน เพราะอยากเรียนหนังสือ และอยากพูดคุย

5. กลุ่มคำที่ทำหน้าที่สนับสนุน

โดยกลุ่มคำที่อยู่ด้านหลังจะทำหน้าที่ขยายกลุ่มคำที่อยู่ข้างหน้า เพื่อรวมเป็นความหมายเดียวกัน เช่น
私は学校に通って います
Watashi wa gakkou ni kayotte imasu
ฉัน กำลัง ไป โรงเรียน

6. ทำหน้าที่เป็นกลุ่มคำอิสระในประโยค เช่น

はい、私は学校に通います。
Hai, watashi wa gakkou ni kayoimasu
ใช่ ฉันไปโรงเรียน

ซึ่งกลุ่มคำทั้ง 6 ประเภทข้างต้น อาจรวมอยู่ในประโยคเดียวกันก็ได้ เช่น

はい私は 会話をしたり 勉強をしたいので 学校に 楽しく 通って います

Hai, watashi wa kaiwa o shitari benkyou o shitai node gakkou ni tanoshiku kayotte imasu

ใช่ ฉัน กำลัง ไป โรงเรียน อย่างสนุกสนาน เพราะอยากเรียนหนังสือ และอยากพูดคุย

ประเภทของประโยค

แบ่งตามความหมายได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. ประโยคบอกเล่า (平叙文 : heijobun)
2. ประโยคคำถาม (疑問文 : gimonbun)
3. ประโยคอุทาน (感動文 : kandoubun)
4. ประโยคคำสั่ง (命令文 : meireibun)

หรือแบ่งตามโครงสร้างได้เป็น 3 ประเภทคือ

1. ประโยคความเดียว (単文 : tanbun)

คือ ประโยคที่มีประธานและภาคแสดงอย่างละ 1 ชนิดเท่านั้น เช่น
私の先生は田中さんです
Watashi no sensei wa Tanakasan desu
อาจารย์ของฉันคือคุณทานากะ

2. ประโยคผสม (重文 : juubun)

คือ ประโยคที่มี 2 ประโยคแยกกันอยู่อย่างอิสระในประโยคเดียวกัน ซึ่งแม้จะตัดแบ่งออกเป็นประโยคความเดียว 2 ประโยค ก็ไม่ทำให้ความหมายโดยรวมเปลี่ยนแปลงไป เช่น
田中さんが立ち、ソムチャイさんが座る
Tanakasan ga tachi, Somuchai san ga suwaru
คุณทานากะยืน คุณสมชายนั่ง

3. ประโยคซ้อน (複文 : fukubun)

คือ ประโยคที่มีภาคแสดงอยู่ในกลุ่มคำขยาย จึงทำให้ประโยคนั้นมีภาคแสดงซ้อนกันอยู่ในประโยคเดียวกัน เช่น
子供を背負った田中さんが走る
Kodomo o seotta tanaka san ga hashiru
คุณทานากะ (ซึ่ง)แบกลูกอยู่บนหลัง วิ่ง

ประเภทของคำ

สามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ

1. แบ่งตามโครงสร้างของกลุ่มคำ

  1. คำอิสระ (自立語 : jiritsugo)
    คือ คำที่มีความหมายในตัวเอง สามารถสร้างเป็นกลุ่มคำได้
  2. คำพ่วง (付属語 : fuzokugo)
    คือ คำมีไม่มีความหมายในตัวเอง ต้องใช้พ่วงต่อท้ายคำอิสระ จึงจะเกิดเป็นกลุ่มคำ เช่น は、が、に เป็นต้น

2. แบ่งตามโครงสร้างของประโยค

  1. คำหลัก (体言 : taigen)
    คือคำอิสระที่ผันรูปไม่ได้ สามารถนำไปเป็นประธานของประโยคได้ ประกอบด้วยคำนาม คำสรรพนาม และตัวเลข โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า 本体の語 (คำที่เป็นตัวหลัก)
  2. คำแสดง (用言 : yougen)
    คือคำอิสระที่สามารถผันรูปได้ สามารถนำไปเป็นภาคแสดงของประโยคได้ ประกอบด้วยคำกริยา และคำคุณศัพท์ทั้งกลุ่มที่ 1 (~い) และกลุ่มที่ 2 (~な) โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า 作用の語 (คำที่แสดงอาการ)

การผันรูป (活用 : katsuyou)

คำศัพท์บางประเภทสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ แต่บางชนิดเปลี่ยนรูปแบบไม่ได้ เช่น

คำว่า "ไป" สามารถผันจากฟอร์มปกติ 行-く (i-ku) เป็นฟอร์มสุภาพ 行-きます (i-kimasu) หรือฟอร์มปฏิเสธ 行-かない (i-kanai) ได้

แต่คำว่า "私 : ฉัน" ไม่สามารถผันเป็นฟอร์มอื่นได้ เป็นต้น

ชนิดของคำ (品詞 : hinshi)

ไวยากรณ์ญี่ปุ่นกำหนดชนิดของคำ ตามประเภทของคำและการผันรูป ไว้ 10 ประเภทคือ

1. คำนาม (名詞 : meishi)

2. คำกริยา (動詞 : doushi)

3. คำคุณศัพท์ (形容詞 : keiyoushi)

เป็นคำแสดงรูปร่าง ลักษณะ หรืออาการของคำนามว่าเป็นอย่างไร โดยจะลงท้ายด้วยเสียง ~い (-i) เมื่อนำไปขยายหน้าคำนาม

4. คำกริยาคุณศัพท์ (形容動詞 : keiyoudoushi)

เป็นคำแสดงรูปร่าง ลักษณะ หรืออาการของคำนามว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับคำคุณศัพท์ แต่จะลงท้ายด้วย ~な (-na) เมื่อนำไปขยายหน้าคำนาม
※ ในเว็บไซต์นี้จะเรียกคำคุณศัพท์ซึ่งลงท้ายด้วยเสียง い ในข้อ 3 ว่า "คำคุณศัพท์ประเภทที่ 1 หรือคำคุณศัพท์ -i"
และเรียกคำกริยาคุณศัพท์ซึ่งลงท้ายด้วย な ในข้อ 4 ว่า "คำคุณศัพท์ประเภทที่ 2 หรือคำคุณศัพท์ -na"

5. คำขยายคำหลัก (連体詞 : rentaishi)

ทำหน้าที่ขยายคำหลัก (taigen) เช่น
あらゆる方法 : arayuru houhou : ทุกวิธี
ある人 : aru hito : ใครคนหนึ่ง

6. คำวิเศษณ์ (副詞 : fukushi)

ทำหน้าที่ขยายคำแสดง (yougen) เพื่อให้รู้ว่าอาการเกิดขึ้นในสภาพใด เช่น
ゆっくり走る : yukkuri hashiru : วิ่งช้า
とてもいい : totemo ii : ดีมาก
決して高くない : kesshite takakunai : ไม่แพงเลย

7. คำเชื่อม (接続詞 : setsuzokushi)

ทำหน้าที่เชื่อมประโยคหรือกลุ่มคำ เช่น
頭が痛いです。しかし、病院に行きません。
Atama ga itai desu. Shikashi byouin ni ikimasen.
ปวดศีรษะ แต่จะไม่ไปโรงพยาบาล

8. คำอุทาน (感動詞 : kandoushi)

เช่น คำเรียกขาน คำตอบรับ หรือคำอุทานแสดงความรู้สึก เป็นต้น

9. คำกริยานุเคราะห์ (助動詞 : jodoushi)

เป็นคำช่วยผันคำแสดง (yougen) มี 18 แบบ คือ
れる・られる・せる・させる・ない・ぬ(ん)・う・よう・まい・たい・たがる・た(だ)・ます・そうだ・らしい・ようだ・だ และ です

10. คำช่วย (助詞 : joshi)

แบ่งเป็น 8 ชนิด คือ
  1. คำช่วยสถานะ (格助詞 : kaku joshi)
    ทำหน้าที่ขยายคำหลัก (taigen) ว่ามีสถานะเกี่ยวข้องกับคำอื่นในประโยคอย่างไร ประกอบด้วย が、の、を、に、へ、と、より、から และ で ยกตัวอย่างเช่น

    田中さん 日本人です : Tanaka san ga nihonjin desu : คุณทานากะเป็นคนญี่ปุ่น
    → が ช่วยชี้ว่า 田中さん เป็นภาคประธานของประโยค

    田中さんが 飲みます : Tanaka san ga mizu o nomimasu : คุณทานากะดื่มน้ำ
    → を ช่วยชี้ว่า お水 เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ (เป็นกรรมของภาคแสดง)

  2. คำช่วยเชื่อม (接続助詞 : setsuzoku joshi)
    ทำหน้าที่ขยายคำแสดง (yougen) และคำกริยานุเคราะห์ (jodoushi) เพื่อขยายความสัมพันธ์ของวลีที่อยู่ข้างหน้ามีความเกี่ยวข้องกับวลีที่ตามมาด้านหลังอย่างไร
    หรือกล่าวคือเป็นคำช่วยเพื่อชี้ความสัมพันธ์ของวลีข้างหน้าและข้างหลัง เช่น ば、と、ても、でも、が、のに、ので เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

    行け 会える : ikeba aeru : ถ้าไปก็เจอ

    行っても会えない : itte mo aenai : ถึงไปก็ไม่เจอ

  3. คำช่วยวิเศษณ์ (副助詞 : fukujoshi)
    คือทำหน้าที่ขยายความหรือจำกัดขอบเขตของคำกริยาหรือคุณศัพท์ที่อยู่ด้านหลัง ได้แก่ ばかり、だけ、ほど、くらい、など เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น

    これだけ下さい : kore dake kudasai : ขอแค่นี้

    ほどできる人はいません : kare hodo dekiru hito wa imasen : ไม่มีใครเก่งเท่าเขา

  4. คำช่วยภาคแสดง (係助詞 : kakarijoshi)
    ทำหน้าที่ชี้คำที่เกี่ยวข้องกับภาคแสดง เพื่อบรรยายผลกระทบกับคำนั้นอย่างไร เช่น การเน้นย้ำ การกระทำซ้ำ เป็นต้น ได้แก่ は、も、こそ、しか、でも และ さえ ยกตัวอย่างเช่น

    行きます : Watashi mo ikimasu : ฉันก็จะไป

    日本行きません : Nihon wa ikimasen : จะไม่ไปญี่ปุ่น (เน้นญี่ปุ่น)

    あなたしか行きません : Anata shika ikimasen : คุณเท่านั้นที่ไม่ไป

  5. คำช่วยจบ (終助詞 : shuujoshi)
    ใช้จบท้ายประโยคเพื่อแสดงความต้องการหรือความรู้สึก เช่น な、か、の、よ、とも、わ、ぞ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น

    行く : iku na : อย่าไป (สั่งห้าม)

    行きましょう : ikimashou yo : ไปกันเถอะ (ชักชวน)

    行く : iku zo : จะไปละ (ยืนยัน)

  6. คำช่วยอุทาน (間投助詞 : kantou joshi)
    เป็นคำช่วยระหว่างประโยคหรือท้ายวลี เพื่อแสดงอารมณ์ หรือเน้นย้ำ หรือเล่นเสียง เช่น な、なあ、ね、ねえ、さ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น

    高いねえ : takai nee : แพงจัง แพงเนอะ

  7. คำช่วยคู่ขนาน (並立助詞 : heiritsu joshi)
    เป็นคำช่วยเพื่อเชื่อมคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปในลักษณะเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำมาจากคำช่วยสถานะ (kakujoshi) คำช่วยภาคแสดง (kakari joshi) คำช่วยวิเศษณ์ (fuku joshi) และคำเชื่อม (setsuzokushi) เช่น と、に、か、や、やら、の、だの เป็นต้น

  8. คำช่วยแปลงคำหลัก (準体助詞 : juntai joshi)
    ทำหน้าที่แปลงคำศัพท์หรือวลีให้มีสถานะเป็นคำหลัก (taigen) โดยส่วนใหญ่จะเป็นคำช่วยชนิดเดียวกันกับคำช่วยสถานะ (kakujoshi) ยกตัวอย่างเช่น

    がありません : watashi no ga arimasen : ของฉันไม่มี

    日本に着いてからが心配です : Nihon ni tsuite kara ga shinpai desu : หลังจากไปถึงญี่ปุ่นแล้วจึงน่าเป็นห่วง

การแปลงชนิดคำศัพท์

คำศัพท์บางประเภทสามารถเปลี่ยนจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ เช่น คำกริยาแปลงรูปเป็นคำนาม หรือคำคุณศัพท์แปลงรูปเป็นคำนาม เช่น

[คำกริยา] 動 : ugoku : เคลื่อนที่ →
[คำนาม] 動 : ugoki : การเคลื่อนที่

[คำคุณศัพท์] 高 : takai : สูง →
[คำนาม] 高 : takasa : ความสูง

[คำคุณศัพท์] 清潔 : seiketsu na : สะอาด →
[คำนาม] 清潔 : seiketsusa : ความสะอาด

คำผสม (複合語 : fukugougo)

เกิดจากการนำคำศัพท์ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมารวมกันเพื่อสร้างเป็นคำใหม่ เช่น

町 (machi : หมู่บ้าน) + はずれ (hazure : ห่างจากใจกลาง) → 町はずれ (machihazure : ท้ายบ้าน)

立てる (tateru : ตั้ง) + かける (kakeru : แขวน,พิง) → 立てかける (tatekakeru : ตั้งพิง)

คำที่สร้างจากคำอื่น (派生語 haseigo)

คือคำที่เกิดจากการเติมคำหรือเติมเสียงที่ด้านหน้าหรือต่อท้ายคำศัพท์เดิม เพื่อสร้างคำศัพท์ใหม่ เช่น

弱い (yowai : อ่อนแอ) → 弱い (kayowai : แบบบาง บอบบาง)

怒る (okoru : โกรธ โมโห) → 怒りっぽい (okorippoi : ขี้โมโห)

楽しい (tanoshii : สนุกสนาน) → 楽し (tanoshimi : ตื่นเต้นคาดหวังกับสิ่งที่จะมาถึง)

คำเลียนเสียง (擬声語 : giseigo หรือ 擬音語 : giongo)

เป็นคำแสดงเสียงร้องของสัตว์ หรือเสียงของสิ่งของต่างๆ เช่น

ワンワン (wanwan) → เสียงร้องของสุนัข
ガタンゴトン (gatan goton) → เสียงรถไฟวิ่ง
ザーザー (zaazaa) → เสียงน้ำไหลแรง

คำเลียนอาการ (擬態語 : gitaigo)

เป็นคำที่ถ่ายทอดสภาพหรืออาการให้ออกมาเป็นคำพูด เช่น

ぺらぺら (pera pera) → อาการพูดอย่างคล่องแคล่ว พูดจ้อ
ばらばら (bara bara) → สภาพกระจัดกระจาย

pageviews 2,663,746