สาระน่ารู้ และเรื่องดีๆ |
|
|
|
|
เสียงขุ่นนาสิก :: か° き° く° け° こ°
|
|
| โดย Webmaster : อ่าน 43674 ครั้ง |
ในภาษาญี่ปุ่น เสียงขุ่น(濁音 :: dakuon)จะแสดงด้วยเครื่องหมาย 〃 (dakuten) เช่น が ぎ ぐ げ ご ざ じ ず ぜ ぞ だ ぢ づ で ど .. (ga, gi, gu, ge, go, za, ji, zu, ze, zo, da, ji, tzu(zu), de, do, ..)
เสียงนาสิก(鼻音 :: bion)จะหมายถึง เสียงที่ปล่อยทางจมูก เช่น[m],[n],[ŋ]
และมีเสียงขุ่นที่ออกเสียงนาสิก เรียกว่า 鼻濁音(bidakuon)ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า "เสียงขุ่นนาสิก"
เสียงขุ่นนาสิก ปกติจะหมายถึงเสียงนาสิกของอักษรแถว ga หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสียงนาสิกแถว ga(ガ行鼻音 :: gagyou bion)
ในสำเนียงโตเกียว และภาษากลาง(共通語 :: kyoutsuugo)อักษรในแถว ga ที่ไม่ได้เป็นตัวแรกของคำศัพท์ จะออกเสียงเป็นเสียงขุ่นนาสิก คือ เสียง[ŋ]หรือ ง.งู เช่น
- เสียง ga ในคำว่า ka-ga-mi(鏡 : กระจก)
- เสียง gi ในคำว่า u-sa-gi(兎 : กระต่าย)
- เสียง gu ในคำว่า do-u-gu(道具 : เครื่องมือ)
- เสียง ge ในคำว่า ni-n-ge-n(人間 : มนุษย์)
- เสียง go ตัวหลัง ในคำว่า go-go(午後 : บ่าย)
การออกเสียงขุ่นนาสิก ให้ใช้นิ้วบีบจมูก แล้วอ่านทั้ง 5 คำข้างต้นดู หากอ่านได้โดยไม่ติดขัด ก็แสดงว่าออกเสียงขุ่น
แต่ถ้าอ่านเสียง ga, gi, gu, ge, go ไม่ได้ หรืออ่านลำบาก ก็แสดงว่าพยายามจะออกเสียงขุ่นนาสิก
+++++++++++++++++++++++++++++++
แม้ว่าเสียงขุ่นนาสิกจะเป็นภาษากลาง ซึ่งมีรากฐานจากสำเนียงโตเกียว แต่สำเนียงท้องถิ่นในหลายพื้นที่ จะมีวิธีการอ่านเสียงขุ่นนาสิก ที่แตกต่างกันไป เช่น บางแห่งจะออกเสียงขุ่นนาสิกเป็นบางคำเท่านั้น หรือบางแห่ง เช่น ภูมิภาค Chuugoku (ตอนใต้ของเกาะฮอนชู) เกาะชิโกกุ และเกาะคิวชู จะไม่มีการใช้เสียงขุ่นนาสิกในสำเนียงท้องถิ่นเลย
ในสมัยก่อนสงครามโลก โรงเรียนที่ญี่ปุ่นเคยมีการสอนเสียงขุ่นนาสิกในชั่วโมงเรียน แต่ปัจจุบันจะไม่มีการสอนเรื่องนี้แล้ว ทำให้มีคนจำนวนมาก ไม่สามารถออกเสียงขุ่นนาสิกได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะไม่ใช้ (ไม่สามารถใช้) เสียงขุ่นนาสิกนี้เลย
- หมายเหตุ: เสียงขุ่นนาสิกในแถว ga จะตรงกับเสียง ง.งู ในภาษาไทย จึงง่ายสำหรับคนไทย แต่ผู้เขียนเคยอ่านพบว่า สำเนียงท้องถิ่นในภูมิภาค Touhoku (ตอนเหนือของเกาะฮอนชู) มีการออกเสียงขุ่นในแถว da เป็นเสียงนาสิกด้วย แต่ไม่ทราบว่าจะออกเสียงอย่างไร ซึ่งความรู้สึกนี้อาจจะเหมือนกับคนญี่ปุ่นที่ไม่เคยใช้เสียงขุ่นนาสิกในแถว ga มาก่อน ก็ไม่รู้จะออกเสียงอย่างไร
หลักการออกเสียงขุ่นนาสิกในภาษากลาง เท่าที่รวบรวมได้ มีประมาณนี้
- อักษรในแถว ga ที่เป็นตัวแรกของคำศัพท์ ออกเสียงขุ่น เช่น
- 外国 (ga-i-ko-ku), 銀行 (gi-n-ko-u), 軍隊 (gu-n-ta-i), 元気 (ge-n-ki), ごみ (go-mi)
- อักษรในแถว ga ที่ไม่ใช่ตัวแรกของคำศัพท์ ออกเสียงขุ่นนาสิก เช่น
- 鏡 (ka-ga-mi), うさぎ (u-sa-gi), 道具 (do-u-gu), 人間 (ni-n-ge-n), 午後 (go-go)
แต่จะมีข้อยกเว้น คือ
- คำช่วย が จะออกเสียงขุ่นนาสิกเสมอ ไม่ว่าจะใช้ในประโยค หรือใช้เพียงตัวเดียว
- เลขห้า หรือ 五 (go) จะออกเป็นเสียงขุ่นเสมอ แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวแรกในคำศัพท์ เช่น 二十五円 (ni-ju-u-go-en), 十五人 (ju-u-go-ni-n), 十五日 (ju-u-go-ni-chi)
ยกเว้นกรณีเป็นคำประสมหรือสำนวน จะออกเสียงเป็นเสียงขุ่นนาสิก เช่น 十五夜 (ju-u-go-ya : คืนเดือนเพ็ญ)
- คำเลียนเสียงเลียนอาการ หากเป็นการออกเสียงซ้ำกันเสียงขุ่นตัวแรก ก็จะออกเป็นเสียงขุ่นในตัวหลังเช่นกัน เช่น ぐずぐず , ゲラゲラ , ぎりぎり , ぎゅうぎゅう , ぎょろぎょろ เป็นต้น
- การเติมคำต้น เช่น お ไว้ข้างหน้าคำศัพท์ที่อยู่ในแถว ga ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นเสียงขุ่นนาสิก แต่ยังออกเสียงขุ่นเหมือนเดิม เช่น お元気 (o-ge-n-ki)
- เสียงในแถว ga ในคำทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ ที่เขียนด้วยคาตาคานะ จะไม่ออกเสียงขุ่นนาสิก เช่น ポルトガル (po-ru-to-ga-ru : โปรตุเกส), ナイアガラの滝 (na-i-a-ga-ra-no-ta-ki : น้ำตกไนแอการา) เป็นต้น
หมายเหตุ: การไม่ออกเสียงคำทับศัพท์ต่างประเทศโดยใช้เสียงขุ่นนาสิก ก็น่าจะเป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การใช้เสียงขุ่นนาสิก ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น
- กรณีเป็นคำประสมที่เกิดจากคำศัพท์ 2 คำ โดยคำศัพท์ตัวที่ 2 ขึ้นต้นด้วยอักษรในแถว ga เช่น 日本 (ni-ho-n) + 銀行 (gi-n-ko-u) , 衆議院 (shu-u-gi-i-n) + 議員 (gi-i-n) , 飛行機 (hi-ko-u-ki) + 雲 (ku-mo) , 真珠 (shi-n-ju) + 貝 (ka-i)
- หากเป็นการประสานแบบหลวมๆ ที่ยังแยกความหมายเป็นคำๆ จะออกเป็นเสียงขุ่น เช่น 日本銀行 (ni-ho-n-gi-n-ko-u : ธนาคารญี่ปุ่น) , 衆議院議員 (shu-u-gi-in-gi-in : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร : gi ตัวแรกเสียงขุ่นนาสิก gi ตัวหลังเสียงขุ่น)
- แต่หากเป็นการประสมคำเป็นเนื้อเดียวกัน หรือการประสมทำให้คำหลังกลายเป็นเสียงขุ่นตามหลักภาษา จะออกเป็นเสียงขุ่นนาสิก เช่น 飛行機雲 (hi-ko-u-ki-gu-mo : เมฆเป็นเส้นที่เกิดจากเครื่องบินบินผ่าน) , 真珠貝 (shi-n-ju-ga-i : หอยมุก) เป็นต้น
เนื่องจากการออกเสียงขุ่นนาสิก มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน และท้องถิ่นต่างๆ ก็มีวิธีการออกเสียงที่ต่างกัน เช่น ภูมิภาค Touhoku จะออกเสียงขุ่นนาสิกทุกกรณีที่อักษรในแถว ga ไม่ใช่ตัวแรกของคำ หรือภูมิภาค Chuugoku หรือแถบชิโกกุ และคิวชู จะไม่มีการออกเสียงขุ่นนาสิกเลย ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
ดังนั้น การจะออกเสียงขุ่นนาสิกให้ถูกต้องตามหลักภาษากลาง ซึ่งนำรากฐานส่วนใหญ่มาจากสำเนียงโตเกียว จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
นอกจากนี้ การศึกษาจากเอกสาร ก็มีข้อจำกัดในจำแนกว่าคำใดจะออกเสียงขุ่น และเสียงขุ่นนาสิก เพราะทั้ง 2 อย่าง ใช้อักษรตัวเดียวกัน คือ が、ぎ、ぐ、げ、こ ดังนั้น ในวงการเฉพาะทาง จึงได้กำหนดสัญลักษณ์สำหรับแสดงการออกเสียงขุ่นนาสิก เพื่อให้แตกต่างกับเสียงขุ่น โดยการใช้อักษรในแถว ka ร่วมกับเครื่องหมาย ゜หรือเครื่องหมายกึ่งขุ่น(半濁点 : handakuten) เป็น
か° き° く° け° こ°
เช่น かか°み、くき°、どうく°、にんけ°ん、ごこ° เพื่อจำแนกอักษรในแถว ga ที่ต้องออกเสียงขุ่นนาสิก ให้ได้อย่างชัดเจน
จากการที่เสียงขุ่นนาสิก เป็นเสียงในภาษากลาง ดังนั้น ที่ผ่านมาสถานี NHK จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยผู้ประกาศข่าวของ NHK จะต้องฝึกการออกเสียงขุ่นนาสิกอย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาติ
ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในชมรมกระจายเสียงในสถาบันศึกษา ก็จะศึกษาวิธีการออกเสียงขุ่นนาสิกให้ถูกต้องเช่นกัน
แต่จากการที่คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจำนวนมาก ไม่คุ้นกับการออกเสียงขุ่นนาสิก จึงมีผู้เคยกล่าวว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ของ NHK และ 2 ใน 3 ของผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ในสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ไม่สามารถใช้เสียงขุ่นนาสิกได้อย่างถูกต้อง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากในวงการวิชาชีพ [ขาดข้อมูลยืนยัน]
+++++++++++++++++++++++++++++++
การออกเสียงขุ่นนาสิกมีแนวโน้มลดลงมาก
เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่มีการกล่าวกันว่า คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นที่ไม่ใช้เสียงขุ่นนาสิก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุด นสพ Asahi Digital วันที่ 5 มีนาคม 2558 ได้นำเสนอผลสำรวจของศูนย์ค้นคว้าภาษาแห่งชาติ (国立国語研究所) ซึ่งทำการสำรวจชาวญี่ปุ่นจำนวน 803 คน จากทั่วประเทศว่า มีผู้ที่ออกเสียง ga ในคำว่า ka-ga-mi (鏡 : กระจก) เป็นเสียงขุ่นนาสิก คือ ออกเสียงว่า คะ-งะ-มิ จำนวนเท่าใด โดยมีผลสรุปจำนวนผู้ออกเสียงขุ่นนาสิก โดยย่อ ดังนี้
- รวมทั่วประเทศ 21.1%
- วัย 20 ปี 5.8%
- วัย 30 ปี 11.5%
- วัย 40 ปี 19.2%
- ภูมิภาค Touhoku (ตอนเหนือของเกาฮอนชู) 66.2%
- ภูมิภาค Hokuriku (ตอนกลางทางตะวันตกของเกาะฮอนชู) 60.9%
- กุมมะ โทจิงิ อิบารากิ 38.3%
- โตเกียว ไซตามะ คานางาวา จิบะ 22.2%
- ภูมิภาค Kinki (โอซากาและรอบๆ) 4.3%
- ภูมิภาค Chuugoku (ตอนใต้ของเกาฮอนชู) ชิโกะกุ คิวชู 0%
โดยหนังสือพิมพ์ Asahi Digital ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เสียงขุ่นนาสิกนี้ อาจหายไปจากประเทศญี่ปุ่น ในศตวรรษหน้า?
www.asahi.com/articles/photo/AS20150304004371.html
หลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร
ข้อมูลไม่ทราบวันที่ แต่เข้าใจว่าค่อนข้างนานมากแล้ว จากเว็บไซต์ทบวงวัฒนธรรมของญี่ปุ่น (文化庁 : Agency for Cultural Affairs) ระบุว่า
-
ระยะหลัง แม้อย่างในโตเกียวซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งใช้เสียงขุ่นนาสิกอยู่เดิม ก็มีแนวโน้มที่คนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ จะไม่ใช้เสียงนี้ ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสัทศาสตร์ ประกอบกับพื้นที่บางแห่งก็ไม่เคยมีการใช้เสียงขุ่นนาสิกมาตั้งแต่เดิม จึงเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องต่อคนทั่วประเทศ
แต่ในส่วนของวงการออกอากาศกระจายเสียง ยังคงมีการฝึกสอนให้แยกใช้เสียงขุ่น และเสียงขุ่นนาสิก อย่างที่เคยเป็นอยู่เดิม ซึ่งมองเห็นความพยายามที่จะรักษาเรื่องนี้ไว้
最近,東京をはじめ従来ガ行鼻濁音を有した地域の多くで,若い人を中心にこの音を使用しない傾向が見られる。これは日本語の音韻の変化であり,また,ガ行鼻濁音がもともと存在しない地域もあることから,これを全国民に要求することは難しい。
放送関係では従来どおりガ行音とガ行鼻濁音の使い分けの指導を行うなど,保存に対する努力が見られる。
www.bunka.go.jp/kokugo_nihongo/joho/kakuki/20/tosin03/10.html
ปัจจุบัน สามารถยอมรับได้ว่า การใช้เสียงนาสิกแถว ga ถือเป็นวิธีตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อว่าจะยังคงเป็นปัญหาในอนาคต
現在のところ,ガ行鼻音を使うほうが標準的であるとみとめてもよいであろうが,将来の問題として残るものと思われる。
www.bunka.go.jp/kokugo_nihongo/joho/kakuki/05/bukai02/09.html
|
ในแวดวงการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัจจุบันจะมีสถานการณ์อย่างไร ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ แต่เชื่อว่าคงไม่แตกต่างกับที่ญี่ปุ่นมากนัก
เมื่อคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจำนวนมาก ไม่ใช้เสียงขุ่นนาสิก อาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนไทยไปเรียนที่ญี่ปุ่น หรือเป็นคนญี่ปุ่นเองก็ตาม ก็ย่อมไม่คุ้นเคยกับการใช้เสียงขุ่นนาสิกเป็นเรื่องธรรมดา
ดังนั้น เมื่ออาจารย์ผู้สอนไม่ใช้เสียงขุ่นนาสิกในชีวิตประจำวัน และไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ หรือไม่เกิดปัญหาการสื่อสารที่ผิดพลาด ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสอนเรื่องเสียงขุ่นนาสิกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษาไทย มีเสียง ง.งู ซึ่งตรงกับเสียงขุ่นนาสิก และคนไทยทุกคนออกได้ชัดเจน ดังนั้น หากจะสอนเรื่องเสียงขุ่นนาสิก แก่ผู้ที่กำลังศึกษาภาษาญี่ปุ่น เพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติม ก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหายอะไร
แต่ถึงจะสอนหรือไม่สอนเรื่องเสียงขุ่นนาสิกหรือไม่ ผู้เขียนยังคงมั่นใจว่า ข้อถกเถียงว่า すごい ควรออกเสียงว่า สุโก้ย หรือ สุโง่ย จะยังคงมีไปอีกนาน จนกว่าเสียงขุ่นนาสิกจะหายไปจากประเทศญี่ปุ่น
Webmaster
8 มีนาคม 2558
|