สาระน่ารู้ และเรื่องดีๆ |
|
|
|
|
เหตุผล 7 ข้อ ที่ชาวต่างชาติคิดว่าภาษาญี่ปุ่นยาก
|
|
| โดย Webmaster : อ่าน 43624 ครั้ง |
ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ทั่วโลกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า การเรียนภาษาที่มีอักษรถึง 3 ประเภท และมีไวยากรณ์ที่ซับซ้อนเช่นภาษาญี่ปุ่นนี้ ย่อมมีความยากลำบากอย่างยิ่ง
ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา มีความรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยาก ด้วยเหตุผล 7 ประการ คือ
- คันจิ
ชาวญี่ปุ่นเริ่มหัดเรียนคันจิมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น เมื่อเติบโตขึ้น แม้จะพบกับคันจิตัวใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็ยังพอจะคาดเดาความหมายและวิธีอ่านได้
แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว จะมีความรู้สึกว่า คันจิเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากอย่างยิ่ง
ชาวต่างชาติที่แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 ปี แล้ว หากเจอคันจิตัวใหม่ๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ชื่อสถานที่ ชื่อคน ชือสัตวหรือพืช ก็แทบจะไม่สามารถคาดเดาความหมาย หรือวิธีอ่านได้เลย
สำหรับชาวต่างชาติแล้ว คันจิเปรียบเสมือนอักษรภาพ ที่ต้องจำส่วนประกอบของคันจิที่แยกเป็นส่วนๆ (เรียกว่า bushu) และต้องจำความหมาย พร้อมกับจำลำดับการลากเส้นอีกด้วย จึงเป็นอักษรที่สร้างความลำบากในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
- มีสำนวนที่แปลตรงๆไม่ได้
ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนที่ไม่สามารถแปลความหมายตรงๆ จากคำศัพท์นั้นๆได้ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น yoroshiku, onegaishimasu, osore irimasu, ojama shimasu, otsukaresama desu เป็นต้น ซึ่งหากแปลความหมายตามตัวอักษร ก็จะกลายเป็นความหมายที่ผิดเพี้ยนไป
ถึงแม้ว่าในตำราต่างๆ จะมีการอธิบายความหมาย และวิธีการใช้สำนวนเหล่านี้ไว้แล้วก็ตาม แต่หากไม่เคยสัมผัสการใช้ชีวิตจริงในญี่ปุ่น ก็จะเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจบริบทในการใช้สำนวนเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง
หรืออาจกล่าวได้ว่า จะต้องเคยใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น และเคยได้ยินได้เห็นชาวญี่ปุ่นใช้สำนวนเหล่านี้ในสถานกาณ์ต่างๆ มามากเพียงพอ จึงจะซึมทราบความหมายและบริบทในการใช้งานได้อย่างถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ii desu ซึ่งถึงแม้จะพูดด้วยโทนเสียงที่เหมือนกัน แต่จะแปลความหมายเป็นการ "ตอบตกลง" หรือ "ตอบปฏิเสธ" ก็ได้ จำเป็นต้องใช้การสังเกตุความในใจของฝ่ายตรงข้าม และพิจารณาสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้นประกอบกันไปด้วย จึงจะทำให้เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง
หรือแม้กระทั่งคำว่า doumo หรือคำว่า sumimasen เพียงคำเดียว ก็มีความหมายต่างๆเป็นจำนวนมาก ยากที่จะแปลตรงๆได้
-
คำยกย่อง
เรื่องที่ยากอย่างหนึ่งในการใช้ภาษาญี่ปุ่น คือการใช้คำสุภาพ คำยกย่อง และคำถ่อมตน
ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ก็มีสำนวนสุภาพเช่นเดียวกัน และโดยปกติแล้ว จะไม่มีคำยกย่องและถ่อมตน เหมือนกับในภาษาญี่ปุ่น
การใช้คำสุภาพ คำยกย่อง และคำถ่อมตน ให้ถูกต้องนั้น แม้แต่ชาวญี่ปุ่นเอง ก็ไม่สามารถพูดได้เองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เป็นเพิศษ
ยกตัวอย่างเช่น หากพูดคำว่า ikimasu ชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนก็จะเข้าใจ แต่หากเปลี่ยนเป็นคำว่า o ukagai itashimasu ซึ่งมีความหมายเดียวกัน ชาวต่างชาติก็จะฟังไม่เข้าใจ และถึงแม้จะทราบความหมาย แต่ก็จะไม่สามารถให้ถูกต้องกับสถานการณ์ได้
- คำลงท้าย (gobi)
หากเปรียบเทียบกับโครงสร้างภาษาอังกฤษที่มีโครงสร้างไวยากรณ์ คือประธาน กริยา กรรม แล้ว ภาษาญี่ปุ่นจะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้คำลงท้ายในประโยค (เรียกว่า gobi) เช่น คำว่า yo, ne, sa ฯลฯ จะแปลความหมายได้ยาก และอาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามอุปนิสัยและความรู้สึกของผู้พูดในสถานการณ์นั้นๆด้วย จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น การพูดคำว่า "เข้าใจแล้ว" หรือ "wakatteru" หากเติมคำคำลงท้ายที่แตกต่างกัน เช่น "wakatteru yo" หรือ "wakatteru kedo" หรือ "wakatteru mon" หรือ "wakatteru sa"ก็จะทำให้มีความหมายแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
คำลงท้ายเหล่านี้ ไม่มีคำให้เปรียบเทียบกับภาษาอื่น ดังนั้น แม้จะศึกษาความหมายจากตำราแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องสัมผัสประสบการณ์จริงเป็นเวลานานพอสมควร จึงจะทำความเข้าใจบริบทในการใช้คำเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง
- คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเอง
ภาษาญี่ปุ่นมีคำทับศัพท์จากภาษาต่างชาติเป็นจำนวนไม่น้อย แต่มีบ่อยครั้งที่เป็นคำศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเอง โดยมีความหมายแตกต่างไปจากความหมายเดิม เช่น gasolin sutando (ปั๊มน้ำมัน) , american koohii (กาแฟรสอ่อน) หรือ bijinesu hoteru (โรงแรมราคาถูก) เป็นต้น
จึงทำให้ชาวต่างชาติสับสนว่า คำทับศัพท์คำใดมีความหมายเหมือนเดิม และคำทับศัพท์คำใดมีความใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่ และเปลี่ยนความหมายไปเป็นอย่างไร
-
คำลักษณะนาม
คำลักษณะนามในภาษาญี่ปุ่น มีเป็นจำนวนมาก และสลับซับซ้อนมาก เช่น กระต่าย จะใช้คำลักษณะนามว่า "wa" เช่นเดียวกับนก บะหมี่ซารุโซบะใช้คำลักษณะนามว่า "mai" เช่นเดียวกับกระดาษ ไข่ปลา 1 พวง ใช้คำลักษณะนามว่า "hara" ซึ่งหมายถึงท้องหรือพุง และกะหล่ำปลีใช้คำลักษณะนามว่า "tama" ซึ่งเป็นคำนามที่แปลว่า "ลูกกลมๆ" เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีคำเลียนเสียง คำเลียนอาการ เช่น เสียงน้ำไหล จะมีคำแสดงระดับเสียงของการไหลค่อยหรือไหลแรง หรืออาการสั่นไหวโคลงเคลง ก็จะมีคำแสดงระดับอาการโคลงเคลงว่ามากหรือน้อยเพียงใด เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และแปลให้เข้าใจได้ยาก ดังนั้น นอกจาการท่องจำแล้ว ยังต้องอาศัยการจินตนาการเข้าช่วยอีกด้วย
- คำช่วย
ในการเรียนภาษาญี่ปุ่น การใช้คำช่วย ถือเป็นด่านแรก ที่มีความยากเป็นอันดับต้นๆ การจะศึกษาจนเข้าใจความแตกต่างของคำว่า wa และ ga หรือความแตกต่างของคำว่า ni กับ de จะต้องใช้เวลาที่นานพอสมควรทีเดียว
ซึ่งความแตกต่างของคำช่วยเหล่านี้ บางครั้งแม้คนญี่ปุ่นเอง ก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการตามความเคยชินมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่ได้สนใจ หรือเห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความแตกต่างด้านไวยากรณ์อย่างทะลุปรุโปร่ง
อ้างอิงจาก : www.madameriri.com
ภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาที่มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง เป็นภาษาที่ไม่สามารถตีความตามตัวอักษรหรือคำพูด แต่เพียงอย่างเดียว
การสื่อสารภาษาญี่ปุ่นให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน จึงไม่ใช่เพียงแต่การศึกษาไวยากรณ์ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่่ต้องมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และอุดมคติในการดำรงชีวิตและการทำงานของชาวญี่ปุ่น อีกทั้งจะต้องเข้าใจอุปนิสัย และใส่ใจต่ออากัปกริยา สีหน้าท่าทาง ของคู่สนทนา ในลักษณะเอาใจเขา มาใส่ใจเรา จึงจะสามารถสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารได้ครบถ้วนแต่เพียงตัวหนังสือ ดังเช่นภาษาญี่ปุ่นนี้ หากจะมองว่าเป็นข้อเสียของภาษา ก็สามารถมองได้ แต่หากจะมองว่าเป็นข้อดีของภาษา ซึ่งมีการหลอมรวมสิ่งต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ก็ย่อมสามารถมองได้เช่นกัน
Webmaster
26 พฤษภาคม 2555
|