"แมลง" กับความเชื่อของคนญี่ปุ่น
โดย webmaster : อ่าน 45,444 ครั้ง

เมื่อพูดถึงคำว่า mushi (虫)
ชาวต่างชาติที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคน คงจะนึกถึงคำว่า "แมลง" ขึ้นมาในทันที
และเมื่อพูดถึงคำว่า Mushi King หรือราชันย์แห่งแมลง
หลายต่อหลายคนก็คงนึกถึงภาพยนต์การ์ตูน หรือเกมการ์ด หรือเกมส์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า หรือการต่อสู้ของแมลงปีกแข็ง โดยมีด้วงกว่างเป็นพระเอก

ชาวญี่ปุ่นมีคุ้นเคยกับแมลงเป็นอย่างมาก
ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน งานอดิเรกและการใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินในช่วงปิดเทอมในฤดูร้อนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นการจับ สะสม เลี้ยง และศึกษาวงจรชีวิตของแมลง นั่นเอง
ในพจนานุกรมญี่ปุ่น คำว่า mushi นอกจากจะแปลว่า "แมลง" หรือ "แมลงปีกแข็ง" แล้ว ยังมีความหมายว่า "สิ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามีความสามารถอย่างอัศจรรย์ในการควบคุมอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ โดยจะเปลี่ยนตำแหน่งที่อาศัยในร่างกายของบุคคลนั้นเป็นครั้งคราว"
อีกด้วย

mushi ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงท้องร้องเมื่อยามหิว และจะเงียบเสียงลงเมื่อให้อาหาร
และยามใดที่ mushi ที่ว่านี้ เคลื่อนย้ายตัว ก็จะทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพะอืดพะอม และอาจจะอาเจียนออกมาเป็นของเหลวที่มีรสเปรี้ยวซึ่งเป็นสารที่ปล่อยออกมาจาก mushi ที่ว่านั้น
mushi ดังกล่าว จึงไม่ใช่ "แมลง" ตามความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็น "สัตว์"? อีกชนิดหนึ่ง ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇◆◇

ในสมัยเฮอัน 平安 คือเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลความเชื่อตามลัทธิเต๋า เกี่ยวกับการมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวว่า
ในร่างกายของมนุษย์มีพยาธิอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด 3 ตัว (sanshi no mushi)
ประกอบด้วย พยาธิตัวบน อยู่ในรูปนักพรต อาศัยอยู่ที่ศีรษะ
พยาธิตัวกลาง อยู่ในรูปสัตว์ อาศัยอยู่ที่ลำตัว
และพยาธิตัวล่าง อยู่ในรูปศีรษะวัว อาศัยอยู่ที่ขา
พยาธิทั้ง 3 ตัว มีความยาวประมาณ 6 ซม.
จะอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์เพื่อทำหน้าที่เฝ้าดูพฤติกรรมการกระทำความชั่วของมนุษย์ผู้นั้น
เมื่อถึงคืนวัน Kanoe saru (庚申) หรือวันเกิงเซิน (นักษัตรลิง ธาตุทอง) ซึ่งจะเวียนมาครบรอบทุกๆ 60 วัน
พยาธิทั้ง 3 ตัวก็จะออกจากร่างในขณะที่มนุษย์ผู้นั้นนอนหลับ
และขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อรายงานต่อพญายมราชให้ทราบถึงการการกระทำกรรมชั่วของมนุษย์ผู้นั้น

พญายมราชก็จะมีบัญชาให้มนุษย์ผู้นั้นมีอายุขัยสั้นลงตามความผิด และเมื่อบันทึกความผิดครบ 500 ข้อ มนุษย์ผู้นั้นก็จะต้องจบสิ้นชีวิต และตกนรกเพื่อชดใช้กรรม ตามความผิดที่พยาธิได้รายงานไว้นั้น
ดังนั้น เมื่อถึงค่ำคืนในวัน Kanoe saru ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อสักการะเทพเจ้า พร้อมทั้งปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เพื่อไม่ให้พยาธิทั้ง 3 ได้มีโอกาสออกจากร่างไป

งานเลี้ยงฉลองนี้ จะจัดขึ้นทุกๆ 60 วัน เมื่อวัน Kanoe saru เวียนมาบรรจบครบรอบ
และเมื่อจัดต่อเนื่องครบ 18 ครั้ง รวมเป็นเวลา 3 ปี
ชาวบ้านก็จะสร้างหลักศิลา โดยผสมผสานเข้ากับความเชื่อที่มีอยู่เดิมตามศาสนาพุทธ และนิกายชินโต หรือสร้างเนินดินไว้ที่ชายขอบหมู่บ้าน เพื่อแกะสลักหรือประดิษฐานเทวรูปที่เชื่อกันว่า มีอิทธิฤทธิ์ในการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับแกะสลักรูปลิง 3 ตัว (ไม่ดู ไม่พูด ไม่ฟัง) ไว้ที่ป้ายศิลานั้นด้วย
เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ คือเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน
ความเชื่อเรื่องพยาธิในร่างกายมนุษย์ตามลัทธิเต๋าและการแพทย์แผนจีน แผ่ครอบคลุมไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น
โดยได้เพิ่มพยาธิขึ้น 9 ชนิด (Sanshi kuchuu)
ซึ่งพยาธิทั้ง 9 ชนิดที่เพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วย
-
Fukuchuu (伏虫)
เป็นตัวหัวหน้าของพยาธิทั้งหมด มีความยาวประมาณ 12 ซม.
-
Kaichuu (蛔虫)
มีความยาวประมาณ 30.3 ซม. เมื่อเคลื่อนไหวจะสำรอกน้ำออกมา และเมื่อสำแดงอาการจะทำให้หัวใจเจ็บปวด ซึ่งหากเจาะไชหัวใจ ก็จะทำให้เสียชีวิต
-
Subaku (寸白)
มีความยาวประมาณ 3 ซม. เมื่อเคลื่อนไหวจะทำให้มีอาการเจ็บท้องและลำไส้ และจะสำรอกน้ำ ซึ่งให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเกิดอารมณ์เกลียดและหายเกลียด
ซึ่งถ้าเจาะไชหัวใจ ก็จะทำให้ถึงแก่ความตายเช่นกัน
-
Nikuchuu (肉虫)
มีสภาพคล้ายลูกท้อเน่า เป็นตัวทำให้เกิดความกลัดกลุ้มใจ
-
Haichuu (肺虫)
คล้ายกับตัวไหม ทำให้เกิดเสมหะ
-
ichuu (胃虫)
คล้ายกับกบ ทำให้อาหารไหลย้อน หรืออาการสะอึก
-
jakuchuu (弱虫)
คล้ายกับเล็บ ซึ่งจะสำรอกน้ำลายออกมาเป็นจำนวนมาก
-
Sekichuu (赤虫)
คล้ายกับเนื้อสด ทำให้ท้องร้อง
-
Gyuuchuu (蟯虫)
คล้ายกับหนอนผักตัวเล็กๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น หิด น้ำกัดเท้า ริดสีดวง และแผลเน่าเปื่อย

ซึ่งแน่นอนว่าในยุคสมัยนั้น มนุษย์ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งในเรื่องชีววิทยาและจิตวิทยาเช่นเดียวกับปัจจุบัน
ดังนั้น ความเชื่อเรื่องพยาธิ 9 ตัวในร่างกาย จึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายเรื่องเกี่ยวกับอาการผิดปกติ ทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึก และในด้านสภาพร่างกายและจิตใจได้ดีที่สุด
เช่น การที่ท้องร้องในยามหิว
ก็สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเสียงร้องของพยาธิที่อยู่ในกระเพาะ
หรือแม้กระทั่งกรดในกระเพาะ ก็คือสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวพยาธิเช่นกัน
ดังนั้น จึงเรียกอาหารว่างหรือของขบเคี้ยวที่ทานตอนที่ท้องว่าง ว่า Mushi osae (ของห้ามพยาธิ) หรือ Mushi yashinai (ของเลี้ยงพยาธิ)
ชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น มีความเชื่อว่า พยาธิทั้ง 9 ชนิดนี้ เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย และความผิดปกติทางความคิด และสติอารมณ์ของบุคคลผู้นั้น และกลายเป็นสำนวนต่างๆที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาจนถึงทุกวันนี้

สำนวนที่เกี่ยวกับพยาธิ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีมากมายหลายสำนวน อาทิเช่น
-
Mushi ga au : 虫が合う
พยาธิเข้ากันได้
หมายถึงการมีความรู้สึกหรือความคิดเข้ากันได้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างพอดิบพอดี
-
Mushi ga aru : 虫がある
มีพยาธิ
หมายถึงการมีความภูมิใจและมีศักดิ์ศรีในความเป็นคน
-
Mushi ga ii : 虫が良い หรือ Mushi no ii :虫の良い
พยาธิดี (พยาธิชอบ)
หมายถึง การทำตามอำเภอใจ หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายหรือผลกระทบต่อผู้อื่น
-
Mushi ga sukanai : 虫が好かない หรือ Mushi no sukanai : 虫の好かない
หรือ Mushi ga kirau : 虫が嫌う
พยาธิไม่ชอบ
หมายถึงการไม่ชอบโดยไม่มีเหตุผล
-
Mushi ga osamaru : 虫が納まる
พยาธิสงบ
หมายถึง อาการโกรธเกลียดสงบลง เนื่องจากพยาธิสงบแล้ว
-
Mushi ga okiru : 虫が起きる หรือ Mushi o okosu : 虫を起こす
พยาธิตื่น
หมายถึง การที่เด็กเกิดอาการปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้โยเยจากการที่พยาธิตื่น
หรือการที่พยาธิถูกปลุกให้ตื่น จึงทำให้คนผู้นั้นทำในสิ่งเลวร้ายที่อาจไม่เคยทำมาก่อน
-
Mushi ga sawagu : 虫が騒ぐ
พยาธิส่งเสียงร้อง
หมายถึงการมีความต้องการสิ่งบางอย่าง เช่น อยากได้ อยากทาน เป็นต้น
-
Mushi ga kaburu : 虫が齧る หรือ Mushi ga kajiru : 虫が齧る
พยาธิแทะ
หมายถึงการปวดท้อง หรืออาการปวดคลอด เนื่องจากถูกพยาธิกัดแทะ
-
Mushi ga shiraseru : 虫が知らせる หรือ Mushi no shirase : 虫の知らせ
พยาธิบอก
หมายถึงการเกิดลางสังหรณ์เกี่ยวกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในที่ห่างไกล หรือเหตุร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
-
Mushi o korosu : 虫を殺す
ฆ่าพยาธิ
หมายถึงการอดกลั้นความโกรธหรือความไม่พอใจอย่างเต็มที่ โดยไม่แสดงออกให้เห็นทางวาจา สีหน้า หรือท่าทาง
-
Mushi no idokoro ga warui : 虫の居所が悪い
หรือ Hara no mushi no idokoro ga warui : 腹の虫の居所が悪い
ที่อยู่ของพยาธิไม่เป็นสุข หรือ ที่อยู่ของพยาธิในท้องไม่เป็นสุข
หมายถึง การมีอารมณ์เสียหรือหงุดหงิดง่ายแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆน้อยๆ
ต้องให้พยาธิย้ายไปอยู่ที่เหมาะๆเสียก่อน จึงจะกลับมามีอารมณ์เป็นปกติตามเดิม
-
Hara no mushi ga osamaranai : 腹の虫が納まらない หรือ Hara no mushi ga shouchi shinai : 腹の虫が承知しない หรือ Mushi ga osamaranai : 虫が納まらない
พยาธิในท้องไม่สงบ หรือ พยาธิในท้องไม่ยอม หรือ พยาธิไม่สงบ
หมายถึง การที่ไม่สามารถระงับความโกรธหรือไม่พึงพอใจต่อบุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นได้
-
Hara no mushi ga naku : 腹の虫が鳴く
พยาธิในท้องร้อง
คือเสียงร้องตอนที่ท้องว่าง
-
Mushi no iki : 虫の息
ลมหายใจของพยาธิ
หมายถึงเหตุการณ์ในขณะที่ใกล้จะเสียชีวิต โดยมีลมหายใจขาดหายเป็นช่วงๆ เหลืออยู่แต่เพียงพยาธิในร่างกาย ที่ยังพอจะมีลมหายใจอยู่เท่านั้น
หรือเปรียบเทียบกับอาการปางตาย เหลือลมหายใจที่แผ่วเบา ราวๆกับแมลงตัวเล็กๆ เท่านั้น
-
Mushi zu ga hashiru : 虫酸が走る
กรดพยาธิไหล
เปรียบเทียบกับอารมณ์ขุ่นมัวชิงชังกับบุคคลหรือสถานการณ์ที่อยู่เฉพาะหน้า
-
Kan no mushi : 疳の虫
พยาธิอ่อนไหว
หมายถึงพยาธิในเด็กอ่อนที่ทำให้เด็กมีภาวะผิดปกติทางอารมณ์ เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล ร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน เป็นต้น

นอกจาก mushi ที่หมายถึงพยาธิในร่างกายแล้ว
ยังมี mushi ประเภทที่อยู่นอกร่างกายในความหมายของ "หนอน" หรือ "แมลง" ซึ่งใช้ในสำนวนในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นอีกมาก อาทิเช่น
-
Warui mushi ga tsuku : 悪い虫が付く
แมลงเลวๆจะมาเกาะ
เปรียบเทียบกับหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งหากไม่รีบแต่งงานเสีย ก็อาจจะมีชายที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาเกาะแกะตอแยทำให้เป็นที่เดือดร้อน
หรือเปรียบเทียบกับการคบหาสมาคมกับคนเลว ซึ่งจะทำให้พยาธิเลวๆติดตัวมาด้วย
-
Mushi mo korosanu : 虫も殺さぬ
ไม่ฆ่าแม้กระทั่งแมลง
เป็นคำเปรียบเทียบคำคนที่มีนิสัยอ่อนโยนนิ่มนวล
-
Issun no mushi ni mo gobu no tamashii : 一寸の虫にも五分の魂
แมลงตัวน้อยก็ยังมีวิญญาณอยู่ครึ่งหนึ่ง
หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นคนต่ำต้อยหรือสัตว์ตัวเล็กแค่ไหน ก็ยังมีกำลังและมีชีวิตเหมือนกัน
โดยเล่าขานกันว่าเป็นคำพูดที่เกิดขึ้นในปลายยุคสมัยเอโดะ เพื่อใช้ตัดพ้อต่อว่าซามุไร (ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า) ที่ฆ่าชาวบ้าน (ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่า) อย่างไม่สนใจไยดี
โดยเปรียบเทียบว่า แม้ชีวิตของชาวบ้านจะต่ำต้อยเสมือนชีวิตของแมลงที่ไร้ค่า แต่ก็มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกัน
-
Shishi shinchuu no mushi : 獅子身中の虫
พยาธิในตัวราชสีห์
หมายถึงคนในวงศ์ตระกูลที่นำความเดือดร้อนหรือพินาศย่อยยับมาให้
ซึ่งเดิมทีหมายถึงสาวกในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปฏิบัติตนขัดต่อพระธรรมคำสอน และนำความเสื่อมเสียมาสู่พุทธศาสนา
-
Yowa mushi : 弱虫
หนอนอ่อนแอ
หมายถึงคนใจเสาะ คนขี้ขลาด
-
Naki mushi : 泣き虫
หนอนร้องไห้
หมายถึง คนขี้แย คนเจ้าน้ำตา
-
Jama mushi : 邪魔虫
แมงเกะกะ
คือคนที่ทำตนเป็นก้างขวางคอ หรือชอบมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้อื่นไม่ต้องการ
-
Ten tori mushi : 点取り虫
แมงเก็บแต้ม
เป็นคำเหน็บแนบคนที่มักสอบได้คะแนนดีๆอยู่เสมอ
-
Hon no mushi : 本の虫
หนอนหนังสือ
คือคนที่รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนังสือเป็นอย่างยิ่ง
-
Shigoto no mushi : 仕事の虫
หนอนงาน
คือคนที่รักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ หรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาชีพการงานเป็นอย่างยิ่ง
-
Kanekui mushi : かねくい虫
แมงกินเงิน
หมายถึงคนที่สุรุ่ยสุร่ายผลาญเงินทองของคนที่เลี้ยงดูอย่างมากมาย
-
?? mushi : ?? 虫
แมงโม้
หมายถึงคนที่ชอบคุยโวโอ้อวดในสิ่งที่เกินความเป็นจริง ซึ่งยังไม่พบสาเหตุว่าเกิดจาก mushi ตัวไหน
แต่ถ้าให้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาในตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นแมงที่ชื่อว่า Horafuki mushi : ほら吹き虫 นั่นเอง

สรุปโดยรวม คงกล่าวได้ว่า คำว่า mushi ในภาษาญี่ปุ่น
นอกจากจะหมายถึงแมลงชนิดต่างๆ ที่เรารู้จักกันดีแล้ว
ยังมีความหมายอื่นซ่อนอยู่อีก
โดยเฉพาะการใช้ในสำนวนที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือภาวะจิตใจ ในความหมายที่มีอาการไม่เป็นปกติ
จะนำเอา mushi มาช่วยแบกรับความผิดนั้นไป โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา
อันเป็นวัฒนธรรมทางภาษาของญี่ปุ่นในการเลือกใช้คำพูดที่อ้อมค้อมในเชิงเปรียบเปรย เพื่อให้เกียรติและไม่หักหาญน้ำใจฝ่่ายตรงข้ามนั่นเอง
やはり虫は無視できません。
皆さんもそう思いませんか。
寒うぅ....
Webmaster
11 มกราคม 2555
pageviews 1,996,502